เมื่อเพื่อนนามว่าโทนี่ เหงียน พูดถึงนายกเหงียน ซวน ฟุ้ก เพื่อเปรียบเทียบกับนายกเหงียน เติน ซุง [1] ความงงงวยแบบเหงียนๆ จึงบังเกิดขึ้น
ผู้เขียนได้มีโอกาสทำงานอยู่ในประเทศเวียดนามมานานกว่า 4 ปี และคำถามที่ผุดขึ้นมาตั้งแต่วันแรกๆ คือทำไมคนเวียดนามจึงใช้นามสกุล Nguyen (ออกเสียงว่า “เหวียน” ตามการถอดเสียงของราชบัณฑิตฯ หรือ “เหงียน” ถ้าเรียกแบบบ้านๆ แต่ไม่ใช่ “งูเย็น” ตามที่หลายคนเข้าใจ) กันเยอะจัง เรียกว่า หากตะโกนว่า “เหงียนนนนน!” กลางสี่แยกจะมีคนหันมาถึง 40% เค้าเป็นญาติหรือมีมาราดาคนเดียวกันหรืออย่างไร? ดังนั้นผู้เขียนจึงพยายามค้นหาความหมายตามอินเตอร์เน็ตและสอบถามเพื่อนๆ ชาวเวียดนามเกี่ยวกับที่มาที่ไปตามเท่าที่จะหาได้
แต่ก่อนอื่น ต้องอธิบายก่อนว่าการเรียงชื่อ-นามสกุลของคนเวียดนามนั้นไม่เหมือนกับไทย คือจะเรียงนำนามสกุลขึ้นมาก่อน แล้วจึงตามด้วยชื่อกลางและชื่อต้น เช่น เหงียน ถิ มิน คาย (Nguyen Thi Minh Khai) คำว่า “เหงียน” คือนามสกุล ส่วน “ถิ” คือชื่อกลาง “มิน คาย” คือชื่อต้น
จริงๆ แล้วชาวเวียดนามที่ใช้แซ่ “เหงียน” นั้นมีเกือบ 40 ล้านคนทั่วโลก! ลำพังเพียงแค่ในประเทศสหรัฐอเมริกาเพียงแห่งเดียวก็มีชาวเวียดเกี่ยว (Viet Kieu) หรือชาวเวียดนามโพ้นทะเล เกือบ 1.8 ล้านคน[2] ที่ใช้นามสกุลเหงียน นางซาร่า เหงียน หรือนายพอล เหงียน จึงเป็นชื่อที่พบเจอได้ทั่วไปในอเมริกา ข้อสันนิษฐานของที่มาของแซ่ เหงียน นั้น มีหลักๆ 3 ข้อด้วยกัน
ข้อหนึ่ง ชาวจีนเป็นคนตั้งแซ่ “เหงียน” ให้เพื่อประโยชน์ในการเก็บภาษี
นักวิชาการจากภาควิชาภาษาตะวันออกและอินโด-แปซิฟิก มหาวิทยาลัยฮาวาย[3] สันนิษฐานว่าในช่วงที่เวียดนามอยู่ภายใต้อิทธิพลการปกครองของจีนนั้น (ก่อนหน้านั้นชาวเวียดนามไม่มีการใช้นามสกุลในทำนองเดียวกับชาวจีน ชาวโรมัน และนอมันก่อนหน้านี้) ชาวจีนเป็นผู้เลือกชื่อสกุลให้กับชาวเวียดนามเพื่อประโยชน์ในการจำแนกและจดบันทึกข้อมูลการจัดเก็บภาษี ซึ่งสันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “หร่วน” (Ruan) ในภาษาจีนแมนดาริน หรือ “เยือน” ในภาษาจีนกวางตุ้ง
ต่อมาสกุลเหงียนได้อพยพเข้ามายังที่ตั้งประเทศเวียดนามในปัจจุบัน จนถึงยุคสมัยใหม่ เมื่อฝรั่งเศสเข้ามามีอำนาจปกครองเหนือภูมิภาคอินโดจีน และเห็นว่ามีประชากรชาวเวียดนามชนชั้นกลางและล่างจำนวนมากที่ยังไม่มีนามสกุล (แม้สกุล “เหงียน” จะแพร่หลายมาได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังจำกัดอยู่เพียงประชากรที่เป็นชนชั้นสูงเท่านั้น) จึงมักให้ชาวเวียดนามเหล่านั้นใช้สกุล “เหงียน” เช่นกัน ซึ่งถือเป็นการให้เกียรติในฐานะราชวงศ์สุดท้ายของเวียดนามนั่นเอง
รูปภาพ: ประธานโฮจิมินห์ ผู้ปลดแอกเวียดนามจากการเป็นอาณานิคมฝรั่งเศส มีชื่อหลายชื่อ เช่น Nguyen Sinh Cung, Nguyen Tat Thanh และ Nguyen Ai Quoc ซึ่งล้วนแต่เป็นแซ่เหงียนทั้งสิ้น
ข้อสอง ใช้แซ่ “เหงียน” เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกกวาดล้างทางการเมือง [4]
แรกเริ่มเดิมทีตระกูลเหงียนกลุ่มแรกได้อพยพมาจากทางตอนใต้ของจีนตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น เพื่อหลีกหนีความวุ่นวายของสงครามภายในประเทศระหว่างช่วงปี ค.ศ. 420-528 และเริ่มตั้งรกรากในพื้นที่ประเทศเวียดนามในปัจจุบัน โดยหลังจากที่ราชวงศ์ “เจิ่น” ได้ยึดอำนาจการปกครองจากราชวงศ์ “ลี้” ในปี ค.ศ. 1200 ก็บังคับให้ลูกหลานตระกูลลี้ เปลี่ยนสกุลเป็น “เหงียน” ทั้งหมด
ต่อจากนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนผ่านของราชวงศ์ต่างๆ เช่น การเปลี่ยนผ่านจากราชวงศ์ “โห” เป็น “มัค” ก็ทำให้ผู้ใช้สกุลของราชวงศ์เดิมจำต้องเปลี่ยนสกุลเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกกวาดล้างจากขั้วอำนาจใหม่หรือล้างแค้นจากขั้วอำนาจเก่า วัฒนธรรมการเปลี่ยนสกุลเป็น “เหงียน” เมื่อเกิดการสถาปนาอำนาจของราชวงศ์ใหม่ขึ้นมา จึงเป็นแนวปฏิบัติที่สืบทอดต่อกันมานับครั้งไม่ถ้วนหลายร้อยปีจนถึงศตวรรษที่ 19
ข้อสาม เปลี่ยนนามสกุลให้สอดคล้องกับแซ่ของผู้ครองอำนาจหรือกษัตริย์ในขณะนั้น
ราชวงศ์ “เหงียน” เป็นหนึ่งในราชวงศ์ที่ปกครองเวียดนามอย่างยาวนานที่สุด ระหว่างปี ค.ศ. 1802 -1945 โดยเป็นราชวงศ์สุดท้ายของเวียดนาม (หลายคนคงเคยได้ยินชื่อจักรพรรดิ์ Bao Dai หรือ บ๋าว ได๋ กษัตริย์องค์สุดท้ายของเวียดนาม) จึงมีชาวเวียดนามจำนวนมากที่เปลี่ยนสกุลตนเองมาเป็น “เหงียน” ในช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อแสดงถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวและจงรักภักดีต่อสถาบันฯ
รูปภาพ: สุสานของกษัตริย์ ขายดิ่ง (Khai Dinh, ค.ศ. 1885-1925) แห่งราชวงศ์เหงียน พระบิดาของจักรพรรดิบ๋าว ได๋
"เหงียน" ภาพสะท้อนสังคมเวียดนาม
วันหนึ่ง มิตรสหายโทนี่ฯ ท่านเดิมได้พูดกับผม (ถอดความจากภาษาอังกฤษตามสไตล์เด็ก “เวียดเกี่ยว” โตเมืองนอก) ว่า “ใครแมร่งจะแคร์วะ ว่ากรุจะนามสกุลอะไร เวลาคนจะจดจำ เค้าจำที่ชื่อต้น เค้าดูว่าคุณกำลังทำอะไรอยู่ในตอนนี้ ไม่ได้จดจำคุณงามความดีของต้นตระกูลที่ทำมาจากชาติก่อนซักหน่อย” ตอนแรกผมก็ไม่ได้คิดอะไร ก้มหน้าก้มตากินเฝอด้วยความตะกระต่อไป แต่พอมานั่งขบคิดดูดีๆ จริงด้วยแฮะ เศรษฐีระดับชั้นนำของเวียดนามไม่ว่าจะเป็นเจ้าของสายการบินเวียดเจ๊ท (Vietjet) อย่างมาดามเหงียน ถิ เฟือง เถา หรือ นายฟาม ยัท เวือง (Pham Nhat Vuong) ผู้ก่อตั้งกลุ่มวิน (Vin Group) ไม่มีคนเวียดนามคนไหนที่พูดถึงบุคคลเหล่านี้ในทำนองว่าตระกูลเหงียน ตระกูลฟาม นี่เก่งจังเลย แต่จะเรียกชื่อต้นกันทั้งนั้น
ต่อจากเฝอผมและเพื่อนก็มานั่งจิบกาแฟดริ้ปฟินใส่นมข้นสไตล์เวียดนามหวานเจี๊ยบบนเก้าอี้ซักผ้าพลาสติกไซส์มินิอยู่ริมถนนไซง่อนที่พลุกผล่าน เมื่อกาแฟสัมผัสลิ้น ก็ชุกคิดถึงเรื่องนี้ขึ้นมาว่าจริงๆ แล้ว เรื่องเหงียนๆ ของชาวเวียดนาม ก็สะท้อนข้อคิดอะไรบางอย่างอยู่เหมือนกันว่า เอ๊ะ สังคมไทยเราให้คุณค่ากับคุณงามความดีในอดีตมาเป็นต้นทุนทางสังคมในปัจจุบันมากเกินไปไหม เราตัดสินคนจากอดีตและจัดที่วางในพีรามิดทางสังคมของปัจจุบันจากที่ทางในอดีตเพียงเท่านั้นหรือ คนที่อยากเห็นอนาคตดีกว่าอดีตนั้นผิดหรือไม่ เราควรหันมาสนใจคนในขณะปัจจุบันให้มากขึ้นไหมว่าเค้าเหล่านั้นกำลังทำอะไรและเพื่อใครอยู่
“นามสกุลเหงียนสำหรับกรุ (และชาวเวียดนามหลายคน) จึงเป็นเพียงแค่การบอกว่าเห้ยกรุไม่ใช่คนผิวขาวนะ เป็นคนที่มีเชื้อเวียดนาม ก็เท่านั้นเอง” นายโทนี่ฯ พูดตบท้าย “เพราะท้ายที่สุดแล้วพวกเราต่างก็เป็นชาว “เหงียน” ไม่ต่างกัน” ผมตอบสหายโทนี่ เหงียนแบบงงๆ
โดย ยุทธฤทธิ์ บุนนาค (เมฆ เหงียน) ผู้มีเพื่อนชื่อ ถุย (Thuy) กับ ห่า (Ha) จำนวนมาก !
[1] นายเหงียน ซวน ฟุ้ก นายกรัฐมนตรีเวียดนาม (ดำรงตำแหน่งวาระตั้งแต่ปี 2016 จนถึงปัจจุบัน) นายเหงียน เติน ซุง อดีตนายกรัฐมนตรีเวียดนาม (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2006-2016)) [2] https://www.atlasobscura.com/articles/nguyen-name-common-vietnam [3] https://inspitrip.com/blog/5689/nguyen-popular-vietnamese-name/ [4] ก่อนปี ค.ศ. 1945 เวียดนามเคยมีการปกครองโดยกษัตริย์ภายใต้หลายราชวงศ์จำนวนมาก รวมถึงราชวงศ์ภายใต้การปกครองของจีนกว่า 1,000 ปี ราชวงศ์ของเวียดนามที่มีระยะเวลาครองราชย์ยาวนานและมีบทบาทสูง อาทิ ราชวงศ์ลี๊ (Ly) ราชวงศ์เจิ่น (Tran) ราชวงศ์เตย์เซิน (Tay Son) ราชวงศ์เล๋ (Le) และราชวงศ์เหงียน (Nguyen) ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายของเวียดนาม เป็นต้น https://www.atlasobscura.com/articles/nguyen-name-common-vietnam
Comments