คิวบา ชื่อนี้ใครได้ยินแล้วคงจะนึกถึงถนนที่เต็มไปด้วยรถยนต์คลาสสิกสีสันฉูดฉาด และกลิ่นอายเรโทรที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลมาจากทั่วโลก ประเทศเกาะแคริบเบียนแห่งนี้มีเอกลักษณ์หลายอย่างที่สะดุดตาผู้คนที่ได้มาเยือน ทุกอย่างที่เราได้สัมผัสที่นี่ล้วนมีเรื่องราวความหลังย้อนกลับไปหลายสิบหรือหลายร้อยปี ความเข้มข้นทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และการเมืองทำให้คิวบาเป็นหมุดที่โดดเด่นอยู่บนแผนที่โลกร่วมสมัย
เมื่อปี 2562 หรือ ค.ศ. 2019 กรุงฮาวานามีอายุครบรอบ 500 ปี และยังเป็นการครบรอบ 60 ปี การปฏิวัติคิวบาด้วย
ประวัติศาสตร์ของเกาะแคริบเบียนรูปทรงจระเข้ที่เป็นจุดบรรจบระหว่าง “โลกเก่า” (ยุโรป-แอฟริกา) กับ “โลกใหม่” (อเมริกา) เป็นเรื่องราวของการหลอมรวมทางสังคมและวัฒนธรรมจากสามทวีป และการต่อสู้ระหว่างสองขั้วอุดมการณ์ทางการเมืองอันยาวนาน จนกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของผู้คนที่ดูเหมือนจะเต็มไปด้วยสีสัน เสียงเพลง และความสนุกสนาน
ผมเคยเดินทางไปกรุงฮาวานา ประเทศคิวบา 7 ครั้งในช่วงที่ประจำการอยู่ที่ประเทศเม็กซิโก มีทั้งที่ไปทำงาน (เราไม่มีสถานเอกอัครราชทูตไทยที่คิวบา จึงให้สถานเอกอัครราชทูตไทยที่เม็กซิโกรับผิดชอบเขตอาณาคิวบาด้วย) และที่ไปส่วนตัว ไปตั้งแต่ยังฟังภาษาสเปนสำเนียงคิวบาไม่ค่อยออกจนกระทั่งสามารถร่วมสนทนากับผู้คนได้พอสมควร
การเดินทางไปที่เดิมซ้ำหลาย ๆ ครั้ง ไม่ได้ทำให้เราเบื่อสถานที่เหมือนที่คนมักจะเชื่อกัน แม้ว่าเราจะไปประเทศเดิม เมืองเดิม กระทั่งเดินอยู่บนถนนเส้นเดิม แต่ว่าในแต่ละครั้งเราก็ได้รู้จักสถานที่นั้นดีขึ้น ได้เห็นในสิ่งที่อาจไม่ทันได้สังเกตในครั้งก่อน ทำให้เราชื่นชมและเข้าใจสถานที่นั้นมากขึ้น และถ้าต้องไปอีก 10 หรือ 20 ครั้ง ก็คงจะได้อะไรใหม่ ๆ กลับมาทุกครั้งอย่างแน่นอน สำหรับวันนี้ ผมขอเล่าสู่กันฟังเท่าที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ได้สัมผัสกับกรุงฮาวานา และประเทศคิวบา ตลอดการเดินทาง 7 ครั้งที่ผ่านมา
ประตูสู่ทวีปอเมริกา
ค.ศ. 1492 คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ออกเดินเรือจากสเปน มุ่งหน้าไปทางตะวันตกด้วยความหวังว่าจะมีเส้นทางสู่ทวีปเอเชีย โดยไม่รู้มาก่อนว่าที่จริงแล้วมีทวีปขนาดใหญ่ขั้นกลางอยู่ระหว่างยุโรปกับเอเชีย ทว่าความมุ่งมั่นที่จะค้นหาเส้นทางใหม่จากยุโรปสู่เอเชียนั้น กลับนำไปสู่การค้นพบที่ยิ่งใหญ่กว่าความตั้งใจเดิมเสียอีก นั่นก็คือ การค้นพบทวีปใหม่
อันที่จริง ถ้าจะบอกว่าโคลัมบัส “ค้นพบทวีปใหม่” ก็คงไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะว่าทวีปอเมริกามีผู้อยู่อาศัยมาก่อนแล้วหลายพันปี มีอารยธรรมที่รุ่งเรืองไม่น้อยไปกว่าทวีปเอเชียเลย หากแต่ชาวยุโรปเพิ่งจะได้รู้จักดินแดนแห่งนี้เมื่อปลายศตวรรษที่ 15
โคลัมบัสเดินทางมาถึงหมู่เกาะบาฮามาสในทะเลแคริบเบียน และต่อไปถึงชายฝั่งคิวบาเมื่อปี ค.ศ. 1492 หลังจากนั้นอีกหลายปี สเปนก็เริ่มสร้างถิ่นฐานบนเกาะคิวบาในปี ค.ศ. 1511 และสร้างเมือง La Habana (ลา อาบาน่า) ในปี ค.ศ. 1515 ซึ่งต่อมาในปี ค.ศ. 1519 เมืองนี้ถูกย้ายมาอยู่ ณ ที่ตั้งปัจจุบัน และถูกตั้งเป็นเมืองหลวงของอาณานิคมแห่งนี้
จากคิวบา สเปนก็เดินหน้าสู่แผ่นดินใหญ่ของทวีปอเมริกา เริ่มจากเม็กซิโกในปี ค.ศ. 1519 และต่อไปยังกัวเตมาลา เปรู จนในที่สุดก็ทั้งทวีปอเมริกาใต้ (ยกเว้นบราซิลซึ่งเป็นของโปรตุเกส) คิวบาจึงนับเป็นอาณานิคมสำคัญและเมืองใหญ่แห่งแรกของสเปนในซีกโลกนี้
รูปภาพ : กรุงฮาวานาในยุคปัจจุบัน ณ Paseo del Prado หรือ Paseo Marti ถนนสายสำคัญกลางเมือง และ Avenida del Puerto ถนนเลียบชายทะเลแคริบเบียน
ดินแดนแห่งนักสู้
การต่อสู้ที่เป็นที่จดจำที่สุดครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์โลกร่วมสมัยคงหนีไม่พ้นการปฏิวัติของฟิเดล กัสโตร (Fidel Castro) นักกฏหมายหนุ่มที่กลายมาเป็นผู้นำสงครามกองโจรเพื่อล้มรัฐบาลของนายพลฟูลเฆนซิโอ บาติสตา (Fulgencio Batista) และผู้สร้างคิวบาให้เป็นรัฐคอมมิวนิสต์
การปฏิวัติคิวบาเริ่มต้นจาก “ขบวนการ 26 กรกฎาคม” (Movimiento 26 de Julio หรือ M-26-7) นำโดยฟิเดล กัสโตร ร่วมกับน้องชาย คือ ราอูล กัสโตร (Raul Castro) ที่ต้องการกระจายรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกรและผู้ใช้แรงงาน รวมถึงต้องการล้มล้างการปกครองของนายพลบาติสตา ซึ่งก่อรัฐประหารเพื่อให้ตนกลับมาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สองเมื่อปี ค.ศ. 1952 (เป็นประธานาธิบดีครั้งแรกจากการเลือกตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1940-1944)
เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1953 กลุ่ม M-26-7 ได้เข้าโจมตีค่ายทหารในเมือง Santiago de Cuba ซึ่งประสบกับความล้มเหลว ทำให้ทั้งฟิเดลและราอูลถูกจับและได้รับโทษจำคุกกว่าสิบปี แต่เหมือนโชคชะตาจะยังเข้าข้างสองพี่น้อง เมื่อนายพลบาติสตาให้การอภัยโทษในเวลาสองปีต่อมา ทั้งสองคนจึงถือโอกาสลี้ภัยไปอยู่ที่เม็กซิโกเพื่อวางแผนเดินหน้าปฏิวัติต่อไป ในช่วงเวลาที่อาศัยอยู่ที่เม็กซิโกนั้นเอง ฟิเดลได้พบกับแพทย์หนุ่มชาวอาร์เจนตินาที่ชื่อว่าเออร์เนสโต เกบาร่า (Ernesto Guevara) หรือที่เราคุ้นหูกันในนาม เช เกบาร่า (Che Guevara) ทั้งสองคนคุยกันถูกคอ Che จึงเข้าร่วม M-26-7 และขึ้นเรือไปคิวบาพร้อมกับสองพี่น้องกัสโตร และเพื่อนร่วมขบวนการฯ อีกหลายคน รวมทั้งหมด 82 ชีวิต การต่อสู้กับนายพลบาติสตาเริ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายปี ค.ศ. 1956 และจบลงด้วยชัยชนะในปี ค.ศ. 1959
รูปภาพ : ใบหน้าของ Che และคำพูดอันโด่งดังที่เขาเคยกล่าวกับฟิเดล ว่า Hasta La Victoria Siempre (“จนกว่าจะได้พบกับชัยชนะ ตลอดไป”) จารึกอยู่บนอาคารกระทรวงกิจการภายในคิวบา (กระทรวงมหาดไทย) ณ จัตุรัสแห่งการปฏิวัติ (Plaza de la Revolución) ในเวลาต่อมา คำพูดดังกล่าวได้เป็นแรงบันดาลใจให้กับบทเพลงอมตะของคิวบาที่ชื่อว่า Hasta Siempre Comandante ซึ่งเสมือนการตอบกลับไปยังวีรบุรุษผู้นี้ว่า “แล้วพบกันอีกครั้ง ท่านผู้บัญชาการ”
รูปภาพ : ด้านข้างกระทรวงกิจการภายใน คือ กระทรวงสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งมีใบหน้าของวีรบุรุษอีกคน คือ กามีโย่ เซียนฟูเอโกส (Camillo Cienfuegos) พร้อมคำพูดของเขาต่อฟิเดล ว่า Vas bien Fidel ("นายทำได้ดีแล้ว ฟิเดล") ที่กลายเป็นสโลแกนติดปากของกลุ่มปฏิวัติฯ
รูปภาพ : ฝั่งตรงข้ามกระทรวงกิจการภายในและกระทรวงสารสนเทศฯ คือ อนุสาวรีย์ José Martí วีรชนที่ต่อสู้เพื่อเอกราชของคิวบาในช่วงศตวรรษที่ 19 จนได้รับการยกย่องในฐานะ "บิดาแห่งเอกราช"
รูปภาพ : หน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ Granma ฉบับวันที่ 26 พฤศจิกายน ค.ศ. 2016 รายงานเรื่องการจากไปของนายฟิเดล กัสโตร โดยพาดหัวข่าวว่า Hasta la victoria siempre, Fidel! (ขอบคุณรูปภาพจากคุณ Jorge Vera กงสุลกิตติมศักดิ์ของไทยประจำกรุงฮาวานา) หนังสือพิมพ์ Granma เป็นสื่อของรัฐ ตั้งชื่อตามเรือที่ชื่อว่า Granma (แปลว่าคุณย่า/คุณยาย) ที่สองพี่น้องกัสโตร พร้อมด้วย Che และ Cienfuegos ใช้เดินทางจากเม็กซิโกกลับมาคิวบาเมื่อปี ค.ศ. 1956 เพื่อทำการปฏิวัติ
การปฏิวัติ กับ กาละแม
“กวนกาละแมกัน มาซิมากวนกาละแมกัน” เนื้อร้องอันขบขันจากบทเพลงที่ขับร้องโดยคุณลินจง บุนนากรินทร์ (พ.ศ. 2486 - 2558) เมื่อครึ่งศตวรรษก่อน เล่าถึงขั้นตอนการทำกาละแมด้วยท่วงทำนองที่ติดหู หากใครได้ฟังแล้วรับรองว่าจะต้องได้ยินเพลงนี้วนเวียนอยู่ในหัวไปตลอดทั้งวันอย่างแน่นอน
สิ่งที่น่าแปลกใจคือ เวลาเดินอยู่ในเมืองเก่าของกรุงฮาวานา เราก็จะได้ยินเพลงที่มีทำนองเดียวกันนี้บรรเลงสดอยู่ตามท้องถนน และตามพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ ตลอดวัน แต่จะเป็นเนื้อร้องภาษาสเปนว่า “Guantanamera, guajira guantanamera” (กวานตานาเมรา กวาฮีรา กวานตานาเมรา) เพลงคิวบานี้เองคือต้นฉบับของทำนองที่กลายมาเป็น “กวนกาละแมกัน มาซิมากวนกาละแมกัน” ในประเทศไทย
ชื่อเพลง Guantanamera แปลว่า "หญิงสาวจากกวนตานาโม" เป็นเพลงที่มีเนื้อหากึ่งสะท้อนการปฏิวัติ การต่อสู้เพื่ออิสรภาพ และการดิ้นรนเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับผู้คนที่โดนกดขี่ ผู้แต่งเพลงนี้ได้ยืมเนื้อร้องมาจากคอลเลคชั่นบทกวี Versos Sencillos ของ José Martí บิดาแห่งการกอบกู้เอกราชคิวบา ที่เขียนไว้ว่า
Yo soy un hombre sincero
De donde crece la palma,
Y antes de morir yo quiero
Echar mis versos del alma.
ฉันเป็นผู้ชายที่ซื่อตรง
จากดินแดนที่ต้นปาล์มเติบใหญ่
และก่อนจากโลกนี้ไป ฉันขอให้
ได้ตะโกนร้องท่อนกลอนแห่งจิตวิญญาณ
Mi verso es de un verde claro
Y de un carmín encendido.
Mi verso es un ciervo herido
Que busca en el monte amparo.
ท่อนกลอนของฉันเป็นสีเขียวอ่อน
และสีส้มที่สว่างไสว
กลอนของฉันคือกวางที่บาดเจ็บ
มองหาแหล่งหลบภัยในภูเขา
Cultivo una rosa blanca
En julio como en enero,
Para el amigo sincero
Que me da su mano franca.
ฉันปลูกกุหลาบขาว
ในเดือนกรกฎาคมเฉกเช่นเดือนมกราคม
แด่เพื่อนเกลอผู้ซื่อตรง
ที่ได้ยื่นมืออันซื่อสัตย์มาให้ฉัน
Con los pobres de la tierra
Quiero yo mi suerte echar.
El arroyo de la sierra
Me complace más que el mar.
กับผู้ยากจนแห่งผืนแผ่นดินนี้
ที่ฉันต้องการร่วมชะตาด้วย
ลำธารแห้งเหือดแห่งขุนเขานั้น
ฉันโปรดปรานซะยิ่งกว่าทะเล
จากบทเพลงแห่งการปฏิวัติสู่การกวนกาละแม ดูแล้วไม่น่าจะเกี่ยวข้องอะไรกันได้ แต่สองเรื่องนี้ก็มาบรรจบกันในประเทศไทย ซึ่งใครที่ชื่นชอบเพลงไทยเก่า ๆ ก็คงคุ้นกันดีกับเพลงไทยในอดีตที่นำท่วงทำนองของเพลงต่างชาติมาใส่เนื้อร้องภาษาไทย สำหรับเพลง “กวนกาละแมกัน” ของคุณลินจงฯ มาจากเพลง Guantanamera ของคิวบา ซึ่งโด่งดังไปนอกคิวบาในช่วงทศวรรษ 1960 จากการ cover โดยวง The Sandpipers ในสหรัฐฯ
รูปภาพ : ตามท้องถนนในย่านนักท่องเที่ยว เราจะพบร้านขายหนังสือเก่าและโปสเตอร์การปฏิวัติจำนวนมาก ทำให้บรรยากาศการปฏิวัติยังมีหลงเหลืออยู่ทุกวันนี้
ชาวต่างชาติผู้มีนามว่าเออร์เนสต์
มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเดินทางไปคิวบาโดยไม่ได้ยินชื่อของ Che Guevara และ Hemingway สองบุรุษผู้เปรียบเสมือนสัญลักษณ์และหน้าตาของวัฒนธรรมร่วมสมัยของคิวบา เมื่อเดินอยู่บนท้องถนนในกรุงฮาวานา เราจะเห็นหน้าของ Che ปรากฏอยู่บนเสื้อผ้าและของที่ระลึกทุกร้าน (ทุกร้านจริง ๆ) ในขณะที่ชื่อของ Hemingway ก็เป็นแรงดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากต้องยืนต่อแถวรอเข้าไปดื่มคอกเทลโปรดของเขาในบาร์ที่เขาเคยนั่ง
สิ่งที่น่าสนใจคือ ชายทั้งสองคนนี้หาใช่ชาวคิวบาแต่อย่างใด แถมทั้งสองคนยังมีชื่อเหมือนกันอีก นั่นคือ Ernest (หรือ Ernesto ตามภาษาสเปน)
Ernest Hemingway เป็นนักเขียนชื่อดังจากสหรัฐอเมริกา เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมเมื่อปี ค.ศ. 1954 ซึ่งอาศัยอยู่ที่คิวบาเป็นเวลาร่วม 20 ปี (แบบเข้า ๆ ออก ๆ โดยเดินทางไปมาระหว่างคิวบา สหรัฐฯ กับยุโรป) ในช่วงเวลาที่อยู่ที่คิวบานี่เองที่เขาได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับชาวประมงคิวบาและการต่อสู้กับปลาดาบ ชื่อว่า The Old Man and the Sea ซึ่งชนะรางวัล Pulitzer Prize และกลายเป็นผลงานวรรณกรรมอมตะชิ้นหนึ่งของสหรัฐฯ
รูปภาพ : ร้านอาหารและบาร์ El Floridita แหล่งนั่งดื่มประจำของ Ernest Hemingway ผู้หลงใหลในคอกเทล Daiquiri ที่ทางร้านได้คิดค้นขึ้น เป็นหนึ่งในสองบาร์ที่ดังที่สุดของคิวบา ถ้าสังเกตดี ๆ จะเห็นว่ามีลายเซ็นของ Hemingway ปรากฏอยู่หน้าร้านด้วย
รูปภาพ : ร้านอาหารและบาร์ชื่อดังอีกแห่งที่ Hemingway เคยนั่งก็คือ La Bodeguita del Medio ผู้คิดค้นคอกเทล Mojito
รูปภาพ : การที่ El Floridita และ La Bodeguita del Medio ดังเป็นพลุแตก โดยเฉพาะในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ มีส่วนมาจากอิทธิพลของ Ernest Hemingway ที่เคยกล่าวไว้ว่า เขาดื่ม Daiquiri ที่ El Floridita และ Mojito ที่ La Bodeguita ดังเห็นได้บนจานที่ระลึกที่มีขายทั่วไป ที่เป็นรูปวาดร้านทั้งสองแห่ง พร้อมคำพูดว่า “My daiquiri in El Floridita. My mojito in La Bodeguita” - E. Hemingway
ส่วน Ernesto “Che” Guevara เป็นนายแพทย์ชาวอาร์เจนตินาผู้ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับสองพี่น้องกัสโตรในการปฏิวัติคิวบาระหว่างปี ค.ศ. 1956-1959 จนกระทั่งได้รับชัยชนะ หลังจากนั้นเขาได้ดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่งในรัฐบาลของกัสโตร ก่อนจะตัดสินใจออกเดินทางไปต่อสู้ในประเทศอื่น ๆ จนกระทั่งจบชีวิตลงที่ประเทศโบลิเวีย
รูปภาพ : บ้านของ Ernesto “Che” Guevara ถูกเก็บรักษาไว้ในสถาพที่ดี และเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้เข้าชมได้ บ้านของเขามีขนาดไม่ใหญ่ มีของใช้ไม่มาก และค่อนข้างเรียบง่าย
แม้เส้นทางชีวิตจะต่างกัน แต่ชายต่างชาติสองคนที่มีนามว่าเออร์เนสต์ คนหนึ่งจากอเมริกาเหนือและอีกคนหนึ่งจากอเมริกาใต้ ยังคงเป็นที่จดจำของผู้คนบนเกาะแห่งนี้มาจนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าทั้งสองคนจะจากคิวบาไปกว่า 50 ปีแล้วก็ตาม
รถยนต์คลาสสิกมาจากไหน
ตอบแบบสั้น ๆ เลยก็คือ มาจากสหรัฐฯ แต่ถ้าตอบให้ยาวขึ้นอีกหน่อยก็คือ เป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ที่การปฏิวัติทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังดูต่างหน้า
ในอดีตคิวบาเคยมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ตั้งแต่การต่อสู้เพื่อเอกราชจากสเปนซึ่งสหรัฐฯ ได้เข้าแทรกแซงในปี ค.ศ. 1898 จนนำไปสู่การทำสนธิสัญญาสงบศึก โดยสเปนยกการปกครองที่เคยมีเหนือคิวบาให้แก่สหรัฐฯ (รวมถึงการปกครองเปอร์โตริโก เกาะกวม และฟิลิปปินส์ด้วย) เหตุการณ์นี้นับเป็นการสิ้นสุดของจักรวรรดิสเปนในทวีปอเมริกา หลังจากนั้นสหรัฐฯ ได้ปกครองคิวบาถึงปี ค.ศ. 1902 ก่อนจะมอบเอกราชให้กับคิวบาอย่างเป็นทางการ
แม้ว่าคิวบาจะได้รับเอกราชแล้ว แต่ในช่วงเวลากว่า 50 ปี ต่อมา สหรัฐฯ ยังคงมีอิทธิพลครอบงำคิวบาในแทบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างผู้นำ การดำเนินธุรกิจของสหรัฐฯ ในคิวบา หรือการสร้างกรุงฮาวานาและเมืองติดทะเลต่าง ๆ ให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จนคิวบาแทบจะไม่ต่างอะไรจากเมืองขึ้นของสหรัฐฯ เลย ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่รถยนต์ ทีวี วิทยุ ตู้เย็น และของใช้ประจำวันต่าง ๆ ในคิวบาในสมัยนั้นจะมาจากสหรัฐฯ
ความใกล้ชิดสนิดสนมระหว่างคิวบากับสหรัฐฯ ในอดีตทำให้มีการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงรถยนต์ แต่ภายหลังการปฏิวัติและการปฏิรูปเศรษฐกิจในเวลาต่อมา คิวบาได้ออกมาตรการห้ามนำเข้ารถยนต์ ซึ่งทำให้ไม่มีการนำเข้ารถยนต์รุ่นใหม่อีก (จนกระทั่งเมื่อปลายปี ค.ศ. 2013 ที่มาตรการดังกล่าวถูกยกเลิก) ด้วยเหตุนี้ ประชาชนจึงได้รักษาและซ่อมบำรุงรถยนต์ที่มีอยู่เพื่อใช้งานต่อมาเรื่อย ๆ เวลาผ่านไปนานหลายสิบปี รถยนต์อเมริกันยุค 1960 แทบจะสูญพันธุ์จากโลกแล้ว แต่ปรากฏว่าในคิวบามี “คอลเลคชั่นรถคลาสสิก” ที่ยังวิ่งอยู่จริงตามท้องถนน แม้กระทั่งรถยนต์จากค่ายดังในอดีตที่ได้ปิดกิจการไปนานแล้วอย่าง Oldsmobile, Plymouth, DeSoto ก็ยังคงวิ่งอยู่
รถคลาสสิกที่คิวบาไม่ได้มีแต่รถเก๋งซีดานเท่านั้น แต่รถประเภทอื่น ๆ อย่างรถบรรทุก หรือจักรยานยนต์ ก็เป็นรุ่นโบราณด้วยเช่นกัน
รูปภาพ : Coco Taxi คือรถตุ๊กตุ๊กรูปทรงมะพร้าว (หรือบางคนอาจมองว่าเป็นหมวกกันน็อค) ดัดแปลงมาจากรถสกู๊ตเตอร์ Piaggio ของอิตาลี เพื่อรับ-ส่งผู้โดยสารระยะทางสั้น ๆ เป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยว ด้วยรูปลักษณ์และสีสันที่โดดเด่น
รัม ซิการ์ และ 3 ช่า
สามสินค้าส่งออกชื่อดังของคิวบาไม่ได้เกิดขึ้นมาโดยความบังเอิญ แต่เป็นผลผลิตจากประวัติศาสตร์ที่ยาวนานหลายร้อยปี และการผสมผสานวิถีชิวิตและสังคมวัฒนธรรมของโลกเก่ากับโลกใหม่
รัม - เครื่องดื่มแอลกอฮอลที่เลื่องชื่อของคิวบาที่เป็นส่วนผสมสำคัญในคอกเทลชื่อดังอย่างโมฮิโต (Mojito) ไดคีรี (Daiquiri) และกูบาลิเบร (Cuba Libre) เริ่มเป็นที่โด่งดังนอกประเทศคิวบาจากการขยายตลาดต่างประเทศของบริษัท Bacardí ในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน Bacardí ไม่ได้เป็นบริษัทสัญชาติคิวบาแล้วเนื่องจากได้ย้ายสำนักงานและฐานการผลิตออกจากประเทศในช่วงการปฏิรูปเศรษฐกิจ ซึ่งตอนนั้นมีการยึดบริษัทเอกชนมาเป็นของรัฐ
รูปภาพ : ทุกวันนี้รัมที่มีชื่อเสียงที่สุดของคิวบา คือ Havana Club ซึ่งเป็นบริษัทที่ถูกแปลงสภาพมาเป็นรัฐวิสาหกิจในช่วงการปฏิรูปเศรษฐกิจ
ซิการ์ - มนุษย์กลุ่มแรกที่ปลูกและบริโภคยาสูบ คือ ชนพื้นเมืองแห่งทวีปอเมริกา ซึ่งตอนที่โคลัมบัสเดินทางมาถึงเขาได้รู้จักกับยาสูบของชาวแคริบเบียน สินค้าเกษตรที่แปลกใหม่นี้ถูกนำกลับไปเผยแพร่ต่อจนกระทั่งเป็นที่นิยมทั่วทวีปยุโรป ต่อมา สเปนและชาติยุโรปอื่น ๆ จึงปลูกใบยาสูบเป็นรูปอุตสาหกรรมในอาณานิคมแถบอเมริกาใต้ ยาสูบกลายเป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรที่เลื่องชื่อของภูมิภาคนี้มาจนถึงปัจจุบัน และที่ดังที่สุดคงหนีไม่พ้นซิการ์ (cigar) ของคิวบา ทุกวันนี้ ซิการ์ของคิวบาผลิตโดยโรงงานยาสูบของรัฐ ที่ชื่อว่า Cubatabaco และจัดจำหน่าย/ส่งออกโดยรัฐวิสาหกิจที่ชื่อว่า Habanos
ยี่ห้อซิการ์ที่ดังที่สุดและแพงที่สุดคือ Cohiba เนื่องจากในอดีตเป็นยี่ห้อที่ผลิตขึ้นเฉพาะสำหรับผู้นำและบุคคลระดับสูงในรัฐบาลคิวบา รวมถึงเพื่อมอบเป็นของขวัญแก่ผู้นำต่างประเทศ ชื่อยี่ห้อนี้มาจากคำว่า “cohiba” ซึ่งเป็นคำที่ชนพื้นเมืองใช้เรียกยาสูบ ณ ตอนที่โคลัมบัสเดินทางมาถึงเกาะคิวบาเมื่อห้าร้อยปีก่อน
ดนตรีคิวบา - ในอดีตภูมิภาคแคริบเบียนเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลที่สำคัญ โดยมีคิวบาและเฮติเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ แต่หลังการปฏิวัติเฮติและเหตุการณ์ความวุ่นวายที่ตามมา คิวบาจึงไร้คู่แข่งและขึ้นมาครองตลาดประจำภูมิภาค จนกระทั่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลกในช่วงเวลาหนึ่งด้วย (เป็นที่มาของการผลิตเหล้ารัม ซึ่งใช้กากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบ) อุตสาหกรรมน้ำตาลนี้เองที่เป็นผู้นำแรงงานจำนวนมหาศาลจากแอฟริกามายังหมู่เกาะแคริบเบียน และก่อกำเนิดสังคมที่ผสมผสานกันระหว่างผู้คนและวัฒนธรรมของสเปนกับแอฟริกา ที่เรียกว่า “แอโฟร-กูบาโน่” (Afro-Cubano) รวมถึงดนตรีคิวบาที่ผสมดนตรีเครื่องสายจากสเปนกับจังหวะกลองของแอฟริกาได้อย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นเพลงแนว Cha Cha Cha (3 ช่า) Son Cubano หรือ Salsa (อันหลังสุดนี้ถือกำเนินขึ้นในนครนิวยอร์กโดยชุมชนคิวบาและเปอร์โตริโก)
รูปภาพ : การแสดงดนตรีของ Buenavista Social Club กลุ่มนักดนตรีที่รื้อฟื้นและสร้างกระแสความนิยมให้กับดนตรีของคิวบาจากยุคสมัยก่อนการปฏิวัติ
ตลอดเวลา 500 ปีที่ผ่านมา คิวบาผ่านอะไรมาเยอะมาก ตั้งแต่การย้ายถิ่นฐานของชาวสเปนเข้ามาตั้งอาณานิคมที่กรุงฮาวานา เกิดการต่อสู้และการล้มตายของคนพื้นเมืองจากการถูกใช้แรงงานหนักบวกกับเชื้อโรคที่มากับชาวยุโรป การนำแรงงานจากแอฟริกาเข้ามาทดแทนคนพื้นเมือง การต่อสู้เพื่อเอกราชจากสเปน สืบเนื่องมาถึงการอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐอเมริกา และการปฏิวัติที่นำไปสู่สังคมนิยมและระบอบคอมมิวนิสต์ในที่สุด
บรรยากาศในกรุงฮาวานายังคงมีกลิ่นอายแห่งการปฏิวัติหลงเหลืออยู่ และภาพที่เราได้เห็นยังคงสะท้อนถึงประวัติการต่อสู้ที่ทำให้คิวบากลายมาเป็นคิวบาในแบบฉบับของทุกวันนี้
Comments