1.4 ตารางเมตร คือพื้นที่ของเสรีภาพในห้องเล็กๆ ไร้หลังคา
32 องศา คืออุณหภูมิความร้อนของแสงแดดที่สาดส่องลงมายังกรงเสือ (Tiger Cage)
20,000 คือจำนวนของนักโทษการเมืองผู้ต่อต้านเจ้าอาณานิคมที่ถูกจองจำ
1294 คือปี ค.ศ. ที่มาโค โปโล เคยล่องเรือมาหลบพายุระหว่างเดินทางไปประเทศจีน
2011 คือปี ค.ศ. ที่ดาราฮอลลีวู้ดแบร้ด พิท และแองเจลินา โจลี มาเยือน
เหตุการณ์ที่กล่าวมาทั้งหมดมีจุดร่วมเดียวกันเพราะเกิดขึ้นบนผืนดินเกาะแห่งเดียวกัน แต่ต่างกรรม ต่างวาระ ต่างช่วงเวลา บนเกาะที่เรียกว่า “กอนด่าว” ใข่มุกแห่งทะเลตะวันออก ตะรุเตาแห่งเวียดนาม เส้นทางแห่งการปฏิวัติที่ถูกลืม
เมื่อพูดถึงประเทศเวียดนาม คนไทยหลายคนคงรู้จักและเคยไปท่องเที่ยวสะพานมือที่นครดานัง หรือน่าจะเคยนั่งกระเช้าขึ้นไปรับลมหนาวที่เมืองซาปา ขึ้นเอทีวีท่องทะเลทรายแบบมันๆ ที่เมืองมุยเน่ ล่องเรือในอ่าวฮาลอง แต่น้อยคนที่จะทราบถึงเกาะเล็กๆ เกาะหนึ่งที่อยู่ในทะเลจีนใต้ (ทะเลตะวันออก) ที่ชื่อว่าเกาะกอนด่าว (Con Dao) ที่เต็มไปด้วยสายลม แสงแดด และกลิ่นอายแห่งการต่อสู้และการปฏิวัติแห่งเวียดนาม
การเดินทางไปยังเกาะถือว่าสมบุกสมบันพอควร
การเดินทางไปเกานี้ทางหนึ่งคือนั่งเรือยนต์นอนจากชายฝั่งจังหวัดบ่าเหรี่ย-หวุงเต่า ซึ่งแต่ก่อนใช้เวลาประมาณ 12 ชม. สนนราคา 300 กว่าบาท (โชคดีตั้งแต่ปี 62 มีการอัพเกรดเป็นเรือไฮโดรฟอยเครื่องยนต์โรลส์สลอยใช้เวลาเพียง 2 ชม. เท่านั้นจากนครโฮจิมินห์) หรืออีกทางหนึ่งคือการขึ้นเครื่องใบพัด ATR ของสายการบิน VASCO จากนครโฮจิมินห์ใช้เวลาเพียง 45 นาที แต่กระนั้นความสะดวกสบายก็ไม่ได้มาง่าย ๆ เสมอไป เพราะมีเที่ยวบินวันละเที่ยวเท่านั้น ตอน 5.15 น. ใช่ครับ! ต้องตื่นตี 3 ครึ่ง เพื่อไปถึงสนามบินตี 4.15 เรียกว่าไปเกาะนี้ทีไร ก็กลายเป็นหมีแพนด้าสติสตางค์ไม่ดีทุกครั้งไป
ทะเล แสงแดด สายลม กับความขมขื่น
เกาะกอนด่าวประกอบด้วยหมู่เกาะขนาดเล็ก-ใหญ่ จำนวน 16 เกาะ โดยมีเกาะที่ใหญ่ที่สุดคือเกาะกอนเซิน (Con Son) มีชายหาดที่เรียบยาว น้ำทะเลใส สวยงาม เงียบสงบ มีเต่าทะเลแหวกว่ายอยู่ใกล้ชายหาดเพราะเป็นส่วนหนึ่งของเขตอนุรักษ์และเพาะพันธุ์เต่าทะเลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ (บริเวณเกาะไบ๋กาน) ปลาโลมากระโดดขึ้นมาทักทายยามพลบค่ำในขณะที่ชาวคณะกำลังนั่งเรือสปีดโบ้ทข้ามเกาะ ซึ่งนี่ก็เป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนได้เห็นปลาโลมาในธรรมชาติจริงนอกซาฟารีเวิลด์ สวยงามขนาดที่อดีตคู่รักอย่างแองเจลีน่า โจลีและแบรด พิตต์ เคยเลือกมาฮันนีมูนที่เกาะแห่งนี้เมื่อปี ค.ศ. 2011 ซึ่งโรงแรมที่หรูหราที่สุดบนเกาะคือ Six Sense Hideaway ที่เพิ่งเปิดบริการได้ไม่นานในปีเดียวกัน
แต่ใครจะรู้ว่าครั้งหนึ่งแสงแดดและสายลมบนเกาะเดียวกันนี้ ได้เคยสร้างความขมขื่นให้กับวิญญูชนนักปฏิวัติแห่งเวียดนามนับไม่ถ้วน ใช่ครับ สถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อของเกาะนอกจากทะเลแล้ว คือคุกเก่าหลายสิบแห่งที่ใช้จองจำนักโทษทางการเมืองในสมัยอาณานิคมฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา รวมถึงสุสานของวีรชนและวีรสตรีที่เป็นที่เคารพนับถือของชาวเวียดนามและขึ้นชื่ออย่างยิ่งในการเซ่นไหว้เคารพเพื่อขอพรและขอความเจริญก้าวหน้าด้านการงาน
เปิดตำนานเกาะกอนด่าว การทูตประชาชนนำเศรษฐกิจ
เมื่อปี 2561 ขณะที่ผู้เขียนประจำการอยู่ที่สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ ทางสถานกงสุลใหญ่ฯ ได้ร่วมงานกับอาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ ผู้คร่ำหวอดในวงการประวัติศาสตร์ ผ้าไทย ฯลฯ และผู้ดำเนินรายการท่องเที่ยว “เปิดตำนานกับเผ่าทอง” ในการถ่ายทำรายการที่เกาะกอนด่าว รวมถึงติดต่อนิตยสารและหนังสือพิมพ์หลายเล่มเพื่อมาสำรวจศักยภาพด้านการท่องเที่ยวในจังหวัดบ่าเหรี่ย-หวุงเต่า ซึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสติดตามคณะ อำนวยความสะดวก และประสานงานการถ่ายทำของคณะอาจารย์เผ่าทองฯ ไปด้วย
กงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ ในสมัยนั้น (อุรีรัชต์ เจริญโต) มีดำริว่าไทยน่าจะสามารถกระชับความสัมพันธ์กับจังหวัดบ่าเหรี่ย-หวุงเต่าได้มากขึ้น* โดยเฉพาะในมิติความสัมพันธ์ระดับประชาชน จึงได้หารือกับเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำจังหวัด (เทียบเท่ารัฐมนตรีช่วยที่ควบคุมการดำเนินงานของผู้ว่าอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์ส่วนกลางจะส่งคนออกมาประจำทุกจังหวัด) ซึ่งมีความต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดพอดี และบ่าเหรี่ย-หวุงเต่ายังไม่เป็นที่รู้จักของคนไทยมากนัก ดังนั้น การเชื่อมโยงการท่องเที่ยวระหว่างไทยและจังหวัดบ่าเหรี่ย-หวุงเต่า นอกจากจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศแล้วยังเป็นการซื้อใจผู้นำจังหวัดด้วย ความสัมพันธ์ทางการเมืองและประชาชนที่แนบแน่นจะเป็นรากฐานสำหรับการขยายความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจเพื่อเอื้ออำนวยและเกื้อหนุนการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการไทยในจังหวัดบ่าเหรี่ย-หวุงเต่าให้ราบรื่นต่อไป
ทีมงานถ่ายทำพร้อมอาจารย์เผ่าทองฯ รวม 3 ชีวิต และทีมสถานกงสุลใหญ่ฯ เดินทางมุ่งหน้าเกาะกอนด่าวจากนครโฮจิมินห์ โดยมีนางเหงียน ทู้ จาง เจ้าหน้าที่จากกรมการท่องเที่ยวจังหวัดบ่าเหรี่ย-หวุงเต่า รอต้อนรับที่สนามบินขนาดกะทัดรัดของเกาะพร้อทรอยยิ้มในชุดประจำชาติอ๋าวหย่ายที่พริ้วไหวตามสายลมแผ่วเบา (หากสงสัยว่าทำไมชาวเวียดนามถึงแซ่ “เหงียน” โปรดอ่านต่อที่นี่) แน่นอนว่าไฮไลท์สำคัญคือการทัวร์คุก!
คุกและท่าเรือขนย้ายนักโทษทางการเมือง
คณะได้มีโอกาสไปเยือนคุกหลัก 2 แห่ง ได้แก่ Phu Hai and Phu Son และ Phu Tuong ซึ่งเป็นที่จองจำนักโทษทางการเมืองสมัยอาณานิคมฝรั่งเศสกว่าหมื่นคนต่อเนื่องจนถึงสมัยสาธารณรัฐเวียดนามใต้และการครอบครองของสหรัฐอเมริกาช่วงปี ค.ศ. 1862-1975 วีรสตรีที่ชาวเวียดนามรู้จักกันดีคือ หวอ ทิ ซาว (Vo Thi Sau) ซึ่งเป็นนักโทษสตรีคนแรกที่ถูกสังหารเมื่ออายุเพียง 19 ปี เนื่องจากดำเนินกิจกรรมต่อต้านฝรั่งเศสมาตั้งแต่อายุ 14 ปี ลักษณะพิเศษของคุกที่นี่คือการทรมาณจับขังในห้องขังที่มีลักษณะคล้ายกรงเสือ (Tiger Cage) ที่มีขนาดเล็กเพียงพอให้คน 2 คนอยู่เท่านั้น โดยด้านบนจะเป็นตระแกรงเหล็กช่องลมเปิดและทางเดินเหนือห้องขัง ซึ่งผู้คุมคอยเดินตรวจตราและทรมานนักโทษ แดดที่ร้อนระอุ ลมกรรโชกแรง และบางครั้งนำมาซึ่งพายุฝนตามประสาของสภาพอากาศหมู่เกาะ ไม่อยากจะจินตนาการถึงความทุกทรมาน ว่ากันว่า (ตามคำบอกเล่าของผู้นำเที่ยว) เมื่อนักโทษตากแดดจนผิวไหม้เกรียมแล้ว ผู้คุมจะนำมะนาวมาบีบน้ำหรือปัสสาวะรดเพื่อเพิ่มความเผ็ดร้อน อย่างไรก็ดี น่าทึ่งว่านักโทษการเมืองหลายคนที่รอดออกไปจากคุกแห่งนี้ ล้วนเติบโตในเส้นทางการเมืองขึ้นเป็นผู้บริหารชั้นนำของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามทั้งสิ้น เช่น อดีตประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีเวียดนามตามลำดับกล่าวคือ นายโตน ดึ้ก ถาง (Ton Duc Thang) และฟาม วาน ด่ง (Pham Van Dong) เป็นต้น จนมีการกล่าวว่าที่แห่งนี้คือโรงเรียนคอมมิวนิสต์หรือ “School of Bolshevism”
หลังจากนั้น คณะได้เดินทางไปถ่ายทำท่าเรือ 914 ซึ่งดูผิวเผินก็เหมือนเป็นท่าเทียบเรือทั่วไป แตกต่างตรงที่มีกระถางธูปปักอยู่ ใช่แล้วครับ ท่าเรือแห่งนี้เคยเป็นที่เทียบเรือเพื่อขนถ่ายย้ายนักโทษทางการเมืองจากภาคพื้นดินมายังเกาะแห่งนี้ และระหว่างการก่อสร้างได้เกณฑ์นักโทษมาเป็นแรงงาน มีผู้เสียชีวิตกว่า 914 คน
ที่นี่ มีพลังงานอะไรบางอย่าง
กิจกรรมขึ้นชื่อที่ถ้ามากอนด่าวแล้วไม่ทำ ถือว่ากลับไปจะโดนมารดาลงโทษคือการไหว้สุสานท่านหวอ ทิ ซาว ตอนเที่ยงคืน! ผู้เขียนรู้สึกหวั่นเกรงอย่างมากเมื่อเห็นกำหนดการว่าต้องไปสุสานกลางค่ำกลางคืนเช่นนั้น พวกเราจอดรถริมทางใกล้ทางเข้าสุสานและซื้อเครื่องเซ้นไหว้ซึ่งมีหวีและกระจกรวมอยู่ด้วย เมื่อไปถึงควันสีขาวหนาตาได้ก่อตัวขึ้น (อืมรู้สึกถึงพลังงานอะไรบางอย่างเหมือนในหนังผีเลย) ทำให้ขนลุกขึ้นมา เหลือบไปเห็นคนนับร้อยกำลังคราคร่ำต่อแถวกันปักธูปจุดเทียนกันอย่างครึกครื้น เหมือนงานเทศการรื่นเริงดี ๆ นี่เอง ในครั้งนี้ ได้สังเกตเห็นว่ามีสุภาพสตรีวัยกลางคนท่านหนึ่งมีผู้ติดสอยห้อยตามพอสมควรกำลังเคารพสักการะสุสานอยู่ สอบถามผู้คนรอบข้างก็พบว่าท่านเป็นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเวียดนามที่มาเคารพสุสานหวอ ทิ ซาว เช่นกัน เป็นเครื่องยืนยันถึงความนิยมและความศักดิ์สิทธิ์ที่แม้นักการเมืองชั้นนำยังต้องดั้นด้นมาถึงเกาะแห่งนี้เพื่อมาเคารพสักการะซักครั้งหนึ่งในชีวิต
มาถึงวันนี้ กอนด่าว เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น มีรีสอร์ทและโรงแรมน้อยใหญ่ผุดขึ้นมากมาย ท้องทะเลที่ใสเห็นตัวปลาดั่งกระจก สะท้อนสีของท้องฟ้ากับพระอาทิตย์ หลอมรวมอย่างแตกต่างและลงตัว ช่างสวยงามแตกต่างจากความขมขื่นและเจ็บปวดของนักโทษผู้ถูกทรมานกลายเป็นเพียงหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่ถูกจารึกไว้เพื่อเป็นบทเรียนให้กับปัจจุบัน แองเจลิน่าฯ ได้เคยให้สัมภาษณ์นักข่าวระหว่างการเยือนเกาะตอนนึงว่า “พวกเขา (ลูกเลี้ยงทั้ง 7 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Brad ผู้มีเชื้อสายเวียดนาม) กำลังเรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่างของกันและกัน และมีความภาคภูมิใจในรากเหง้าความเป็นตัวตนของตัวเอง พวกเขาจะมีธงชาติประจำตัวแขวนอยู่บนหัวนอนพร้อมความภาคภูมิใจส่วนบุคคล” ชาวเวียดนามก็เช่นกัน เขาเหล่านั้นกำลังทะยานสู่การเป็นประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจเติบโตสูงสุดแห่งหนึ่งในโลก แต่การต่อสู้ของวีรชนชาวเวียดนามยังฝังลึกอยู่ในจิตใจและสายเลือดของชาวเวียดนามและเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของการพัฒนาในวันนี้
**************
เนื้อหาโดยยุทธฤทธิ์ บุนนาค
รูปภาพโดยอุรีรัชต์ เจริญโต และยุทธฤทธิ์ บุนนาค
* จังหวัดบ่าเหรี่ย-หวุงเต่ามีความสำคัญต่อประเทศไทยในฐานะฐานการลงทุนของภาคเอกชนไทยที่มูลค่าสูงที่สุดในเวียดนาม (ข้อมูลเมื่อปี 62 มีการลงทุนของไทยรวม 3.82 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยมีโครงการปิโตรเคมีลองเซินของกลุ่ม SCG เป็นโครงการลงทุนที่ใหญ่ที่สุด
ข้อมูลอ้างอิง
(1) บทสัมภาษณ์นางอุรีรัชต์ เจริญโต กงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ ปี 2561 https://www.komchadluek.net/news/women/262978
(2) https://thaibiz-vietnam.com/states_regions/ba-ria-vung-tau/
(3) รายการ “เปิดตำนาน กับเผ่าทอง” ตอนเกาะกอนด๋าวประเทศเวียดนาม ออกอากาศ วันที่ 16 กันยายน 2561 https://www.youtube.com/watch?v=Z6urOYfRaVM&t=210s&ab_channel=TonyStock
Comments