top of page
  • Writer's pictureจินห์จุฑา มโนธรรม

Handelsbeurs ต้นกำเนิดตลาดหลักทรัพย์แห่งแรกของโลก ณ เมืองแอนต์เวิร์ป

Updated: Feb 14, 2021

เมืองแอนต์เวิร์ป (Antwerp) แม้จะไม่ใช่เมืองหลวง แต่เป็นเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศเบลเยียมทั้งในแง่ขนาดประชากรและขนาดเศรษฐกิจ นอกจากนี้ เมื่อครั้งหนึ่งยังเคยเป็นศูนย์กลางการค้าของยุโรปและของโลกด้วย เมืองแอนต์เวิร์ปตั้งอยู่ในภูมิภาคแฟลนเดอร์ส (Flanders) ของเบลเยียมและอยู่ใกล้กับพรมแดนติดประเทศเนเธอร์แลนด์ ชาวเฟลมมิชกับชาวเนเธอร์แลนด์อยู่ร่วมกันมาช้านานและนอกจากจะพูดภาษาเดียวกันแล้วยังมีลักษณะเหมือนกันอย่างหนึ่ง คือ เป็นคนที่มีหัวทางการเงินและการธนาคาร พวกเขามีระบบการทำบัญชีและการแลกสกุลเงินมาตั้งแต่ยุคกลางแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ตลาดหลักทรัพย์จะถูกพัฒนาขึ้นโดยคนกลุ่มนี้


รูปภาพ: ทางเข้าอาคาร Handelsbeurs


ตลาดหลักทรัพย์ตอนเกิดขึ้นมาทีแรกไม่ใช่สถานที่ซื้อขายหุ้นของบริษัทแบบที่เราเข้าใจกันในปัจจุบัน แต่เป็นสถานที่สั่งซื้อสั่งจองและแลกเปลี่ยนสต๊อกสินค้า เป็นเหตุว่าทำไมในภาษาอังกฤษถึงเรียกว่า stock exchange การแลกเปลี่ยนสต๊อกสินค้าคือการซื้อขายสินค้าที่ไม่มีมาวางอยู่ต่อหน้า อาจเป็นเพราะว่าสินค้านั้นยังไม่ได้ผลิตหรือผลิตแล้วแต่ยังขนส่งมาไม่ถึง จึงเป็นการซื้อขายใบสั่งจองสินค้าซึ่งเป็นเอกสารรับประกันว่าเราเป็นเจ้าของสินค้านั้น ๆ แล้ว


Stock exchange ลักษณะนี้ถือกำเนิดขึ้นที่เมืองแอนต์เวิร์ปเมื่อปี ค.ศ. 1531 หรือเมื่อประมาณ 500 ปีที่แล้ว ชื่อของสถานที่นี้ในภาษาดัตช์คือ 'Handelsbeurs' แปลตรงตัวว่า Trade Fair หรือสถานที่แสดงสินค้า เป็นอาคารแห่งแรกที่สร้างขึ้นเพื่อให้พ่อค้ามาเจรจาธุรกิจกันโดยเฉพาะ



ช่วงเวลานั้นตรงกับยุคแห่งการสำรวจของชาวยุโรป ซึ่งได้ค้นพบเส้นทางเดินเรือระหว่างเอเชียกับยุโรปผ่านแหลมกู๊ดโฮป และค้นพบโลกใหม่หรือทวีปอเมริกา ทำให้ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของยุโรปเปลี่ยนจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมาเป็นยุโรปตะวันตก โดยเมืองแอนต์เวิร์ปได้ก้าวขึ้นมาเป็น "ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ" เนื่องด้วยทำเลที่อยู่ใจกลางยุโรปและมีทางออกทะเลสู่มหาสมุทรแอตแลนติก




เราจะเห็นว่าบริเวณทางเดินรอบลานกลางมีห้องไม้เรียงเป็นแถวตลอดแนว ซอยเป็นห้องย่อย ๆ ซึ่งคือออฟฟิศชั่วคราวของเหล่าพ่อค้า โดยพ่อค้าสามารถเช่าออฟฟิศนี้เพื่อเก็บสัมภาระ หรือใช้เป็นห้องประชุมเจรจาการค้ากับลูกค้าแบบส่วนตัวได้ นับว่าเป็นนวัตกรรมแปลกใหม่เมื่อ 500 ปีที่แล้วที่อาคารถูกออกแบบเฉพาะเพื่อประโยชน์ใช้สอยในการทำธุรกิจ และกลายเป็นต้นแบบให้หลายเมืองในยุโรปเริ่มสร้างสถานที่แลกเปลี่ยนสินค้าของตนเองบ้าง เช่น Royal Exchange ที่ลอนดอน



เหนือจากห้องออฟฟิศของพ่อค้า คือกำแพงที่วาดเป็นแผนที่โลกตลอดทั้งสี่ด้านของอาคาร มีแผนที่อุษาอาคเนย์ที่มี 'สยาม' ปรากฎอยู่ด้วย แผนที่โลกนี้วาดโดยนักเดินเรือจึงเป็นแผนที่ที่มีสัดส่วนถูกต้องตามหลักวิชา และมีการแสดงเส้นทางเดินเรือสำคัญ เพื่อให้พ่อค้าสามารถอธิบายกับลูกค้าได้ว่า ตนต้องข้ามน้ำข้ามทะเลมาไกลเพียงใดกว่าจะนำสินค้ามาถึงมือลูกค้าได้




ที่หลังคาของอาคารจะเห็นเหล็กดัดสีเขียว แสดงลวดลายของสินค้าเกษตรที่นำมาซื้อขายกัน เช่น ใบต้นกาแฟ ต้นชา และต้นโกโก้ (อ่านเรื่องที่มาของอุตสาหกรรมช็อกโกแลตในยุโรป) ที่น่าสนใจคือเหล็กดัดนี้เป็นศิลปะสไตล์ Art Nouveau ของปลายศตวรรษที่ 19 ที่สถานปนิกนำมาต่อเติมและผสมผสานเข้ากับสถาปัตยกรรมสไตล์นีโอโกธิกเดิมของอาคารได้อย่างลงตัว



อาคาร Handelsbeurs สร้างในสไตล์นีโอโกธิก ตัวอาคารปัจจุบันสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1872 เพื่อทดแทนตึกก่อนหน้านี้ที่ถูกไฟไหม้ไปสองรอบ ตรงกลางเป็นลานกว้างให้พ่อค้านำสินค้าจากแดนไกลมาจัดแสดงและแลกเปลี่ยนกัน


อันที่จริงแล้ว Handelsbeurs เป็นการต่อยอดมาจากโมเดลธุรกิจโรงเตี๊ยมในอดีต เมื่อก่อนพ่อค้าต้องเดินทางระหว่างประเทศกันบ่อยครั้งและเป็นกลุ่มลูกค้าประจำของโรงเตี๊ยมตามเมืองต่าง ๆ โรงเตี๊ยมจึงไม่เป็นเพียงแค่ที่พักแต่ยังเป็นสถานที่ที่พ่อค้าใช้สำหรับเก็บสินค้าด้วย หนึ่งในโรงเตี้ยมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคือ Ter Beurse ของตระกูล Van der Beurse ที่เมืองบรูช (Bruges - อยู่ในภูมิภาคแฟลนเดอร์สของเบลเยียมเช่นกัน) ในศตวรรษที่ 13 จึงเป็นที่มาของคำว่า "beurs" ในภาษาดัตช์ และ "bourse" ในภาษาฝรั่งเศสที่แปลว่า "สถานที่แลกเปลี่ยน" และ "ตลาดหลักทรัพย์" ในเวลาต่อมา



Handelsbeurs ไม่ได้เป็นเพียงแค่ตลาดขายของธรรมดา แต่เป็นสถานที่ที่มีการทำธุรกรรมทางการเงินหลากหลายประเภทที่ซับซ้อนขึ้นกว่าแต่ก่อน เช่น การทำสัญญาซื้อขายสินค้า การบริการธนาคาร และที่น่าสนใจคือ ณ Handelsbeurs แห่งนี้ เริ่มมีการคิดค้นการเทรดฟิวเจอรส์สินค้าโภคภัณฑ์เกิดขึ้น พ่อค้ายอมจ่ายเงินจองซื้อสินค้าล่วงหน้าในราคาปัจจุบัน โดยหวังว่าในอนาคตเมื่อสินค้ามาถึง ราคาตลาด ณ เวลานั้นจะสูงขึ้นกว่าราคาปัจจุบัน ซึ่งหมายถึงเขาจะสามารถขายสินค้าดังกล่าวต่อในราคาที่สูงกว่าราคาต้นทุนและทำกำไรไปเหนาะ ๆ นั่นเอง ถือเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดการลงทุนผ่านการซื้อขายสินทรัพย์โดยหวังให้ราคาของสินทรัพย์นั้นเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต

จากนวัตกรรมครั้งนั้นเรายังต้องรออีกประมาณ 100 ปี จึงจะมีการซื้อขายหุ้นของบริษัท โดยตลาดหลักทรัพย์หรือ "ตลาดหุ้น" แบบที่เราเข้าใจกันในปัจจุบันเกิดขึ้นครั้งแรกที่อัมสเตอร์ดัมเมื่อปี ค.ศ. 1611 และบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ (Dutch East India Company) เป็นบริษัทมหาชนแห่งแรกของโลก



Handelsbeurs ถูกใช้งานเป็นศูนย์กลางธุรกิจของเมืองแอนต์เวิร์ปมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1531 และหยุดใช้ไปในช่วงศตวรรษที่ 17 ต่อมาในปี ค.ศ. 1872 อาคาร Handelsbeurs ได้รับการบูรณะและเปิดใช้เป็นตลาดหลักทรัพย์ของเมืองแอนต์เวิร์ป (ครั้งนี้เป็นตลาดหุ้นจริง ๆ แล้ว) จนถึงปี ค.ศ. 1997 ก่อนที่จะต้องปิดฉากลงเนื่องจากได้ถูกควบรวมเข้ากับตลาดหลักทรัพย์บรัสเซลส์เพื่อให้เบลเยียมมีตลาดหลักทรัพย์แห่งเดียว

แต่เมืองแอนต์เวิร์ปก็ไม่ยอมให้อาคารที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่กว่า 500 ปีแห่งนี้ต้องเลือนหายไปจากความทรงจำง่าย ๆ และเมื่อปีที่ผ่านมา (ค.ศ. 2020) ได้เปิดอาคารให้สาธารณชนเข้าชมได้อีกครั้งหลังบูรณะอยู่หลายปี โดยตอนนี้มีหลากหลายฟังก์ชัน ทั้งเป็นสถานที่จัดงานเลี้ยง ร้านอาหาร ห้องแสดงนิทรรศการ และต่อไปจะมีโรงแรม (ยังอยู่ระหว่างการปรับปรุงพื้นที่)



รูปภาพ: ห้องแสดงนิทรรศการและโซนร้านอาหารของ Handelsbeurs

70 views0 comments
bottom of page