เมื่อพูดถึงหนังสือการ์ตูนแล้วคนส่วนใหญ่คงนึกถึงค่าย Marvel และ DC ของสหรัฐอเมริกา หรือวงการ manga ของญี่ปุ่น น้อยคนนักที่จะนึกถึงประเทศเล็ก ๆ ในทวีปยุโรปอย่างเบลเยียม และหากไม่ได้มาเห็นด้วยตนเองก็คงคาดไม่ถึงว่าที่นี่จะมีวงการหนังสือการ์ตูนขนาดใหญ่จนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนทุกเพศทุกวัย และเป็นของที่ระลึกที่ชาวต่างชาติต้องหิ้วติดมือกันกลับบ้าน
หนังสือการ์ตูนชื่อดังของเบลเยียมหลายเรื่องเป็นหนังสืออมตะ หมายความว่าเป็นเรื่องเก่าที่ทุกวันนี้ยังตีพิมพ์อยู่ เด็กเบลเยียมในวันนี้สามารถอ่านหนังสือการ์ตูนเรื่องเดียวกันกับที่พ่อแม่และปู่ย่าตายายของเขาเคยอ่าน หนังสือการ์ตูนเรื่องใหม่ก็มีออกมาอย่างต่อเนื่องแต่อาจไม่ดังเท่ากับหนังสือการ์ตูนคลาสสิก อันที่จริงแล้วคนทั่วโลกก็คุ้นเคยกันดีกับตัวการ์ตูนจากเบลเยียมเพียงแต่อาจไม่รู้ว่ามาจากประเทศนี้
หนึ่งปีที่ผ่านมาที่ผมอาศัยอยู่ในเบลเยียมในสภาวะล็อกดาวน์ ทำให้ต้องใช้เวลาอยู่ในบ้านเป็นส่วนใหญ่ จึงเริ่มหาหนังสือการ์ตูนอันเป็น "ศิลปะประจำชาติ" มาอ่าน จนเป็นที่มาของบันทึกวันนี้
รู้จักการ์ตูนสุดคลาสสิกของเบลเยียม
The Adventures of Tintin
เมื่อพูดถึงการ์ตูนเบลเยียมแล้วคนส่วนใหญ่จะต้องนึกถึง Tintin เป็นเรื่องแรก เพราะเป็นหนังสือการ์ตูนที่โด่งดังที่สุดของเบลเยียมและของทวีปยุโรป Tintin หรือเรียกชื่อเต็มว่า The Adventures of Tintin เป็นผลงานของศิลปินที่ใช้นามปากกาว่า Hergé ที่เริ่มพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1929 ในฐานะการ์ตูนรายสัปดาห์บนหน้าหนังสือพิมพ์ เป็นเรื่องราวการผจญภัยรอบโลกของนักข่าวหนุ่ม Tintin กับสุนัขคู่ใจชื่อ Milou พร้อมด้วยเพื่อนกัปตันเรือชื่อ Haddock และนักประดิษฐ์ชื่อ Tournesol สิ่งที่ทำให้หนังสือการ์ตูนเรื่องนี้เป็นที่นิยมคือการเดินเรื่องที่รวดเร็วและตื่นเต้น และในการผจญภัยแต่ละครั้ง Tintin จะพบกับประสบการณ์แปลกใหม่ในดินแดนที่ห่างไกล
หากนึกย้อนกลับไปเมื่อประมาณหนึ่งร้อยปีก่อน ในสมัยที่คนส่วนใหญ่ยังไม่มีโทรทัศน์ (และโลกนี้ยังไม่รู้จักคอมพิวเตอร์หรืออินเตอร์เน็ท) การนำภาพจากต่างประเทศมาถ่ายทอดผ่านหนังสือการ์ตูนนี้ถือว่าล้ำยุคทีเดียว Tintin สามารถพาผู้อ่านไปถึงเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ รวมกระทั่งไปถึงดวงจันทร์
จากแรกเริ่มที่เป็นการ์ตูนในหน้าหนังสือพิมพ์ ต่อมา Tintin ถูกรวมเป็นรูปเล่มขาว-ดำ จากนั้นก็พัฒนาเป็นเล่มสี มีทั้งหมด 24 ตอนด้วยกัน ต่อมา ระหว่างช่วงทศวรรษ 1940-1990 ได้มีการปรับเป็นการ์ตูนเคลื่อนไหวสำหรับฉายทั้งทางโทรทัศน์ (ตอนสั้น) และในโรงภาพยนตร์ (ตอนยาว) และล่าสุด เมื่อปี ค.ศ. 2011 Tintin ได้ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์แอนิเมชั่น 3D ครั้งแรก ซึ่งเป็นผลงานการกำกับของ Steven Spielberg โดยมี Peter Jackson เป็นโค-โปรดิวเซอร์
The Smurfs
หนังสือการ์ตูนเบลเยียมอีกเรื่องหนึ่งที่มีชื่อเสียงไม่น้อยไปกว่า Tintin คือ The Smurfs คนทั่วโลกต่างรู้จักตัว Smurfs กันดีแต่รู้หรือไม่ว่าจริงแล้วตัวการ์ตูนสีฟ้านี้มีชื่อจริงว่า Schtroumpfs (อ่านว่า ชทรูมป์ฟ) ซึ่งเป็นชื่อที่ผู้แต่ง (นามปากกาว่า Peyo) ตั้งขึ้นเอง โดยที่ต้นฉบับของหนังสือการ์ตูนเป็นภาษาฝรั่งเศส ขณะที่คนในประเทศเบลเยียมครึ่งหนึ่งพูดภาษาดัตช จึงมีการแปลเป็นภาษาดัตชด้วย ซึ่งในฉบับแปลนี้เองที่ชื่อ Schtroumpfs ถูกเปลี่ยนเป็น Smurfs (คงเพื่อให้สามารถอ่านออกง่ายขึ้น) และเมื่อการ์ตูนเรื่องนี้ดังออกไปยังต่างประเทศโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ชื่อที่ใช้กันคือ Smurfs (ในบางภาษามีชื่ออื่นด้วย อย่างเช่นในกลุ่มประเทศที่พูดภาษาสเปนจะเรียกว่า Pitufos)
ตอนที่ Peyo สร้างตัวละคร Smurfs ขึ้นมาทีแรกเมื่อปี ค.ศ. 1958 นั้น เหล่าตัวสีฟ้านี้เป็นเพียงตัวประกอบในหนังสือการ์ตูนเรื่อง Johan and Peewit แต่ปรากฏว่าตัวละครนี้ได้รับความนิยมจนกระทั่งเริ่มมีหนังสือการ์ตูนเป็นของตัวเอง และต่อมามีการผลิตเป็นการ์ตูนทีวีโดย Hanna Barbera (ค่ายการ์ตูนอเมริกันที่สร้างชื่อจากผลงานอย่าง Scooby Doo, The Flintstones, The Jetsons) ถ้าคิดในเชิงเปรียบเทียบแล้วคงคล้ายกับปรากฏการณ์ตัว Minions ในเรื่อง Despicable Me ที่ได้รับความนิยมจนกระทั่งมีภาพยนตร์เป็นของตัวเอง
Smurfs มีวิวัฒนาการคล้ายกับ Tintin คือ เริ่มจากเป็นหนังสือการ์ตูน (ค.ศ. 1958) และค่อยเป็นการ์ตูนเคลื่อนไหวในโทรทัศน์ ก่อนจะมาเป็นภาพยนตร์แอนิเมชั่น 3D ในปี ค.ศ. 2011 (ปีเดียวกับที่ Tintin ฉบับแอนิเมชั่น 3D ออกฉาย) แถมยังมีต่ออีกสองภาคซึ่งฉายเมื่อปี 2013 และ 2017
Astérix
สำหรับหนังสือการ์ตูนเรื่องที่สามที่กล่าวถึงนี้ อาจไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในต่างประเทศเท่ากับเรื่อง Tintin หรือ Smurfs แต่ในเบลเยียมแล้วถือว่าเป็นอีกชื่อที่ทุกคนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี หนังสือการ์ตูนเรื่องนี้ชื่อว่า Astérix เป็นเรื่องราวของชาว Gaulois หรือ Gauls (กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในเบลเยียมเมื่อประมาณ 1500-2000 ปีที่แล้ว) ซึ่งเป็นชนชาติเดียวในยุโรปที่ไม่ถูกปกครองโดยจักรวรรดิโรมันและจูเลียสซีซาร์ ตัวละครและเหตุการณ์ในหนังสือการ์ตูนเรื่องนี้ถูกสมมุติขึ้นมา โดยมี Astérix กับสหายของเขาที่ชื่อว่า Obélix เป็นกำลังสำคัญในการต้านการรุกรานจากนักรบโรมัน
Astérix เป็นผลงานของ René Goscinny และ Albert Uderzo ที่เริ่มตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1959 จากนั้นได้มีการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ (ทั้งในรูปการ์ตูน ภาพยนตร์ที่มีคนแสดง และแอนิเมชั่น 3D) ซึ่งได้รับความนิยมในกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส
พิพิธภัณฑ์การ์ตูนหนึ่งแห่งก็ไม่พอ สองแห่งก็ยังไม่พอ
เบลเยียมน่าจะเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่สร้างพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับหนังสือการ์ตูนไว้ถึงสามแห่งด้วยกัน โดยสองแห่งอยู่ห่างกันแค่ระยะทางเดินเท้าและอีกแห่งนั่งรถต่อไปเพียงหนึ่งชั่วโมง
พิพิธภัณฑ์แรกที่ต้องกล่าวถึง คือ พิพิธภัณฑ์หนังสือการ์ตูน (Museum of Comic Strips) ซึ่งตั้งอยู่ย่านกลางกรุงบรัสเซลส์ ในอาคารอายุกว่าร้อยปีที่ออกแบบโดย Victor Horta สถาปนิกชื่อดังของเบลเยียมผู้ได้รับฉายาว่าเป็นบิดาแห่งสถาปัตยกรรมสไตล์อาร์ตนูโว (Art Nouveau) การที่พิพิธภัณฑ์หนังสือการ์ตูนตั้งอยู่ในอาคารแห่งนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นความตั้งใจที่จะนำสองศิลปะที่ขึ้นชื่อที่สุดของเบลเยียมมารวมไว้ในที่เดียวกัน
อาคารที่ตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เดิมเคยเป็นร้านขายผ้าและโกดังสินค้าที่ชื่อว่า Waucquez (ตามชื่อเจ้าของร้าน Charles Waucquez) สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1906 ช่วงนั้นเป็นยุคที่เศรษฐกิจเบลเยียมกำลังเติบโต มีโครงการก่อสร้างจำนวนมาก และในเวลาเดียวกันยุโรปเริ่มใช้เหล็กในการก่อสร้างซึ่งทำให้สามารถสร้างอาคารด้วยเสาจำนวนน้อยลงและมีพื้นที่เปิดโล่งมากขึ้น สถาปนิกสมัยนั้นเริ่มทดลองดีไซน์ใหม่ ๆ โดยใช้กระจกเพื่อเปิดรับแสงธรรมชาติสู่อาคาร ทั้งนี้ การที่ใช้เหล็กเป็นวัสดุก่อสร้างหลักทำให้ Victor Horta ต้องคิดหาวิธีที่จะทำให้ตัวอาคารดูไม่แข็งทื่อจนเกินไป ซึ่งทางออกของเขาคือนำเหล็กมาดัดเป็นลวดลายวิจิตรดังที่เห็นตามราวบันได ประตู หน้าต่างของอาคาร
เมื่อช่วงทศวรรษ 1970 อาคารนี้เคยถูกปล่อยร้างไป เช่นเดียวกับหลายอาคารในย่านเดียวกันเนื่องจากมีการก่อสร้างทางรถไฟซึ่งทำให้ร้านค้าต่างต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น ย่านนี้กลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรมมาจนกระทั่งเมื่อปี ค.ศ. 1984 รัฐบาลเบลเยียมได้ซื้ออาคารโดยมีแผนจะปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์หนังสือการ์ตูน ทั้งนี้ หากถามว่าชาวเบลเยียมให้ความสำคัญกับหนังสือการ์ตูนขนาดไหน (ในเมื่อรัฐบาลถึงกับลงมือทำพิพิธภัณฑ์เอง) เราจะรู้คำตอบได้จากการที่กษัตริย์และพระราชินีเบลเยียมเข้าร่วมพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์หนังสือการ์ตูนแห่งนี้เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1989
จากพิพิธภัณฑ์หนังสือการ์ตูน เดินต่อไปไม่ไกลเราจะพบกับพิพิธภัณฑ์อีกแห่งที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน คือ พิพิธภัณฑ์หุ่นจำลอง หรือ Museum of Original Figures (MOOF) ซึ่งอยู่ติดกับสถานีรถไฟกลางบรัสเซลส์
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ริเริ่มขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2012 โดย Eric Pierre ซึ่งเป็นนักสะสมการ์ตูน และนับเป็นการต่อยอดอย่างลงตัวจากพิพิธภัณฑ์หนังสือการ์ตูน เพราะหลังจากชมหนังสือการ์ตูนเสร็จเราก็มาชมตัวการ์ตูนในรูป 3 มิติต่อ
ที่นี่มีโมเดลตัวการ์ตูนชื่อดังของเบลเยียมทั้งหลายตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ คนที่มาชมมีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ รวมไปถึงเหล่านักสะสมและแฟนพันธ์แท้ของหนังสือการ์ตูน
เมื่อพูดถึงตัวการ์ตูนแล้ว ตอนนี้เรามารู้จักศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานกันบ้าง นักเขียนการ์ตูนที่มีชื่อเสียงที่สุดของเบลเยียมคงเป็นใครอื่นไปไม่ได้นอกจาก Hergé ผู้เป็นเจ้าของผลงานการ์ตูนชุด Tintin และจากผลงานที่สร้างชื่อเสียงไปทั่วโลก ทำให้เบลเยียมถึงกับสร้างพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ขึ้นมาเพื่อเล่าเรื่องของ Hergé และ Tintin เป็นการเฉพาะ
การเดินทางมาพิพิธภัณฑ์นี้นับว่าสะดวกมากทีเดียว เพราะสามารถนั่งรถไฟจากสถานีรถไฟกลางบรัสเซลส์มาลงที่สถานี Louvain-la-Neuve เมื่อออกจากสถานีก็ถึงพิพิธภัณฑ์เลย โดยที่สนามหญ้าด้านหน้าอาคารมีรูปปั้นของ Hergé รอต้อนรับเราอยู่
รูปปั้นนี้แสดงให้เห็น Hergé ขณะกำลังเขียนการ์ตูนอยู่ โดยมีแมวที่เป็นสัตว์เลี้ยงของเขาเกาะดูอยู่บนบ่า และบนเก้าอี้ที่เขานั่งอยู่นั้นมี Tintin กับ Milou มาแอบยืนดูด้วย
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของ Hergé และการสร้างหนังสือการ์ตูน Tintin เราสามารถชมภาพวาดต้นฉบับที่เขียนด้วยมือจำนวนหลายชิ้น รวมถึงผลงานศิลปะอื่น ๆ ของ Hergé นอกเหนือจากงานหนังสือการ์ตูนด้วย แต่แน่นอนว่าไฮไลท์ของพิพิธภัณฑ์คือเรื่องราวการทำงานของ Hergé ในส่วนที่เกี่ยวกับ Tintin ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจ คือ เขาเขียนการ์ตูนเกี่ยวกับการเดินทางรอบโลกโดยที่ตัวเขาเองไม่เคยไปสถานที่เหล่านั้นเลย แต่เขาอาศัยว่าศึกษาข้อมูลจากห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เพื่อให้เห็นภาพบ้านเมือง การแต่งตัว และวัฒนธรรมของประเทศเหล่านั้นก่อนจะนำมาถ่ายทอดเป็นรูปภาพ
ดูเหมือนว่า Hergé จะเป็นคนที่หลงไหลในยานพาหนะ เพราะในแต่ละตอนของ Tintin เราจะเห็นรถรุ่นต่าง ๆ ที่เขาออกแบบขึ้นมาเอง รวมถึงยังได้ออกแบบเรือดำน้ำรูปฉลามซึ่งเป็นหนึ่งในสองยานพาหนะที่เป็นที่จดจำมากที่สุดสำหรับผู้ชม (อีกพาหนะคือจรวจอวกาศสีขาว-แดงลายตารางหมากรุก ซึ่งปรากฏในรูปภาพจากพิพิธภัณฑ์หนังสือการ์ตูนก่อนหน้านี้)
เมื่อตัวการ์ตูนทำหน้าที่ทูตวัฒนธรรม
เมื่อปี ค.ศ. 2018 (พ.ศ. 2561) ตอนที่ไทยกับเบลเยียมฉลองครบรอบ 150 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูต เบลเยียมได้ใช้ตัวการ์ตูน Smurfs เป็นมาสคอตในวาระนี้ บางคนที่นั่งรถไฟฟ้าบีทีเอสอาจพอจำได้ว่าในปีนั้นเคยมีขบวนรถไฟฟ้าที่ทำเป็นรูป Smurfs พร้อมด้วยธงชาติไทยและธงชาติเบลเยียม และหากใครที่เคยไปติดต่อธุระหรือทำวีซ่าที่สถานเอกอัครราชทูตเบลเยียมก็จะเห็นรูปตัว Smurfs อยู่บนผนังพร้อมกับคำว่า 150 ปีความสัมพันธ์ไทย-เบลเยียม
สำหรับใครที่มาถึงเบลเยียมแล้วถามว่าควรซื้ออะไรกลับไปเป็นของที่ระลึก คำตอบคือหนังสือการ์ตูนและสินค้าที่เกี่ยวข้อง เพราะไม่น่าจะมีสินค้าอะไรที่เป็น "เบลเยียม" ไปได้มากกว่านี้อีกแล้ว แถมร้านขายหนังสือการ์ตูนในเบลเยียมก็ไม่ใช่ธรรมดา ถ้าลองได้เข้าไปเดินดูแล้วรับรองว่าจะอดใจไม่ได้ที่ต้องได้ของติดไม้ติดมือมาบ้างเพราะ "ร้านหนังสือการ์ตูน" ที่นี่ไม่ได้ขายเฉพาะหนังสืออย่างเดียว แต่ยังเป็นร้านขายของสะสมและของที่ระลึก ทั้งโมเดลตัวการ์ตูน พวงกุญแจ แก้วน้ำ เครื่องเขียน ปฏิทิน เสื้อยืด ตุ๊กตา ฯลฯ ร้านหนังสือการ์ตูนลักษณะนี้มีอยู่ทั่วไปตามเมืองใหญ่ของเบลเยียม รวมทั้งยังมีร้านเฉพาะสำหรับสินค้า Tintin หรือสินค้า Smurfs ด้วย
นอกจากตัวการ์ตูนจะขยายไลน์สินค้าออกไปมากมายหลายชนิดแล้ว สินค้าขึ้นชื่อของเบลเยียมประเทภอื่นอย่างช็อกโกแลตก็มาทำการตลาดร่วมกับตัวการ์ตูน อย่างเช่นยี่ห้อ Leonidas ที่ทำแพคเกจเป็นรูป Astérix หรือ Neuhaus ที่ทำช็อกโกแลตและบรรจุภัณฑ์เป็นรูป Smurfs
และหากใครได้ไปที่ Atomium ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์คของกรุงบรัสเซลส์ ก็จะพบว่าสินค้าที่ระลึกของ Atomium จำนวนไม่น้อยเป็นสินค้าที่ทำแบรนดิ้งร่วมกับ Smurfs
ความนิยมในหนังสือการ์ตูนทำให้ภาพวาดเหล่านี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในหนังสือหรือสินค้าที่ระลึกเท่านั้น แต่ออกมายังท้องถนนและพื้นที่สาธารณะด้วย เพราะสำหรับประเทศที่มีการ์ตูนเป็นศิลปะประจำชาติอย่างเบลเยียม แม้แต่สตรีทอาร์ตยังเป็นภาพการ์ตูนเลย
มันแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะมาเบลเยียมแล้วกลับไปโดยไม่เจอตัวการ์ตูนในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ตั้งแต่ไปทำวีซ่าที่สถานเอกอัครราชทูตเบลเยียมจนมาถึงสนามบินกรุงบรัสเซลส์ เดินอยู่บนท้องถนน หรือแวะกินช็อกโกแลต เราจะพบตัวการ์ตูนอยู่ทุกที่จริง ๆ
หนังสือการ์ตูนหรือหนังสือเรียน
หนังสือการ์ตูนที่เบลเยียมไม่ได้มีเฉพาะเรื่องที่แต่งขึ้นเพื่อความบันเทิงสำหรับเด็ก ๆ เท่านั้น แต่ยังเป็นสื่อในการสอนประวัติศาสตร์และให้ความรู้ด้วยการใช้ภาพวาดประกอบการเล่า หากเราอยากเรียนรู้ประวัติศาสตร์เบลเยียม อ่านชีวประวัติบุคคล หรือแม้กระทั่งอ่านนิยาย ก็สามารถหาฉบับหนังสือการ์ตูนมาอ่านได้ ซึ่งนี่คงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เด็กที่นี่ชอบอ่านหนังสือกัน
จะว่าไปแล้วการใช้หนังสือการ์ตูนเป็นสื่อในการเล่าหรือสอนประวัติศาสตร์ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่อะไร และเชื่อหรือไม่ว่าอันที่จริงแล้วหนังสือการ์ตูนถือกำเนิดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์นี้ด้วยซ้ำ มนุษย์เราเริ่มบันทึกเหตุการณ์เป็นภาพวาดมาตั้งแต่ที่วิวัฒนาการมาเดินสองขาและใช้มือจับถือสิ่งของ เริ่มด้วยมนุษย์ถ้ำที่วาดรูปบนผนังถ้ำ ต่อมาเมื่อเริ่มสร้างอารยธรรมที่ซับซ้อนขึ้นก็ยังคงบันทึกประวัติศาสตร์ผ่านภาพวาดดังที่เห็นกันในอียิปต์หรือในแถบเมโสโปเตเมีย แต่นั่นยังไม่ใช่หนังสือการ์ตูนในรูปแบบที่เรารู้จักกันในปัจจุบันเสียทีเดียว ถ้าว่ากันด้วยรูปแบบแล้ว ผู้ริเริ่มการแบ่งหน้ากระดาษออกเป็นช่องสี่เหลี่ยมโดยแต่ละช่องมีรูปภาพพร้อมคำพูด/คำบรรยาย คือ นักบวชคริสต์ในยุโรปในช่วงยุคกลาง พวกเขาจึงนับว่าเป็นผู้คิดค้นรูปแบบหนังสือการ์ตูน หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือ "หนังสือการ์ตูน" ถือกำเนิดขึ้นเพื่อเป็นสื่อในการสอนศาสนาและประวัติศาสตร์นั่นเอง
ไม่ว่าเราจะอ่านหนังสือการ์ตูนเพื่อความบันเทิงหรือเพื่อการเรียนรู้ สิ่งที่สำคัญคือการสร้างนิสัยในการอ่านอย่างเป็นประจำ ซึ่งประเทศเบลเยียมดูแล้วจะประสบความสำเร็จอย่างมากในเรื่องนี้ ทุกครั้งที่เดินผ่านร้านหนังสือมือสองจะเห็นได้ว่ามีคนยืนต่อแถวรอเข้าร้านจำนวนมาก แต่ละคนหอบลังหรือกระสอบที่เต็มไปด้วยหนังสือเพื่อมาขายให้ทางร้าน พร้อมกับซื้อหนังสือจากร้านในปริมาณเท่ากันนี้กลับไปอ่าน
Comments