กิจกรรมหนึ่งที่พลาดไม่ได้เมื่อไปถึงเม็กซิโกคือชมการแข่งขัน Lucha Libre (ลู-ชา-ลิเบร่) มวยปล้ำที่ผู้แข่งสวมหน้ากากเหมือนฮีโร่ในหนังสือการ์ตูนขึ้นโชว์ลีลาโลดโผนบนเวที ท่ามกลางเสียงเชียร์ของคนดูที่ฟังแล้วเหมือนอยากจะลงไปแข่งเองด้วยซ้ำ ความสำเร็จของวงการมวยปล้ำในเม็กซิโกทำให้ประเทศลาตินอเมริกาแห่งนี้เป็นหนึ่งในสามประเทศแนวหน้าแห่งมวยปล้ำของโลก (อีกสองประเทศคือญี่ปุ่นกับสหรัฐอเมริกา) นอกจากนี้ เอกลักษณ์เฉพาะตัวของ Lucha Libre ยังทำให้กีฬานี้กลายเป็น pop culture ที่รู้จักกันไปทั่วโลก รวมทั้งเป็นแรงบันดาลใจให้กับการ์ตูนญี่ปุ่นอย่าง “หน้ากากเสือ” หรือภาพยนตร์อเมริกันอย่าง Nacho Libre ด้วย
รูปภาพ: สีหน้าและอารมณ์ของแฟน ๆ ที่มาเชียร์มวย
ที่มาของมวยปล้ำในเม็กซิโกมีจุดเริ่มต้นเมื่อปี ค.ศ. 1863 ในยุคที่ฝรั่งเศสปกครองประเทศ โดยหลังจากที่ได้เห็นการแข่งมวยปล้ำของชาวต่างชาติแล้ว Enrique Ugartechea เกิดความสนใจและเริ่มฝึกฝนมวยปล้ำจนกระทั่งได้เป็นนักมวยปล้ำเม็กซิกันคนแรก ต่อมา กีฬามวยปล้ำค่อย ๆ ได้รับความนิยมมากขึ้นจนกระทั่งมีการจัดแข่งอย่างเป็นระบบ มีการก่อตั้ง “บริษัทมวยปล้ำเม็กซิกัน” (Empresa Mexicana de Lucha Libre) และมีการจัดแข่งมวยปล้ำอาชีพนัดแรกของเม็กซิโกเมื่อปี 1933 ณ สนามมวย Arena México
Arena México ได้รับการขนานนามว่าเป็น “วิหาร” แห่ง Lucha Libre เพราะนี่คือสถานที่จัดแข่งมวยปล้ำที่อยู่คู่วงการมวยปล้ำของเม็กซิโกมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม ทั้งนี้ เมื่อ Lucha Libre ได้รับความนิยมมากขึ้น การแข่งขันต้องย้ายไปจัดที่สนามมวยอีกแห่งที่ใหญ่ขึ้นในช่วงปี 1940 โดย Arena México กลายมาเป็นโรงเรียนฝึกนักมวยปล้ำ แต่ว่าจำนวนแฟนมวยปล้ำยังคงเพิ่มขึ้นไม่หยดหย่อนจนกระทั่งสนามมวยแห่งใหม่นี้ก็ยังมีความจุไม่เพียงพอ จนบริษัทมวยปล้ำเม็กซิกันต้องสร้างสนามมวยที่ใหญ่ขึ้นอีกในปี 1956 โดยเลือกสร้างสนามขนาดความจุ 16,500 ที่นั่ง บนทำเลเดิมของ Arena México ทำให้การแข่งขัน Lucha Libre ย้ายกลับมายัง “วิหาร” อีกครั้ง
นับจากการแข่งขันมวยปล้ำอาชีพครั้งแรกเมื่อปี 1933 วงการมวยปล้ำเม็กซิกันได้มีวิวัฒนาการเรื่อยมา มีการคิดค้นเทคนิคใหม่ ๆ นำกระบวนท่ากายกรรมโลดโผนมาประยุกต์ใช้ และสร้างตัวละครขึ้นมาเพื่อสร้างความบันเทิงโดยนักกีฬาแต่ละคนจะมีหน้ากากประจำตัว ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกใจคนดูจนถึงขนาดสร้างปรากฏการณ์ใหม่ทั้งในวงการกีฬาและวงการบันเทิงเม็กซิโก นั่นคือ นักมวยปล้ำหลายคนกลายมาเป็นดาราภาพยนตร์ในยุค 1950 โดยสวมบทเป็นตัวเองนี่แหล่ะ (เป็นเรื่องราวของนักมวยปล้ำคนนั้น ๆ ที่ต้องต่อสู้กับผู้ร้าย ตั้งแต่เครือข่ายอาชญากรไปจนถึงสัตว์ประหลาด) ดาราที่เป็นอมตะอย่างเช่น El Santo ยังคงเป็นที่กล่าวถึงมาจวบจนปัจจุบันและหน้ากากของเขายังมีวางขายอยู่ทั่วไปในเม็กซิโก
รูปภาพ: Hijo del Santo และ Nieto del Santo มาร่วมงานของสถานเอกอัครราชทูตไทยในเม็กซิโก
ความลึกลับอย่างหนึ่งของนักมวยปล้ำ หรือ Luchador (ลู-ชา-ดอร์) คือการไม่เปิดเผยโฉมหน้าที่แท้จริงให้สาธารณชนรู้จัก เพราะหน้ากากมวยปล้ำได้กลายเป็นตัวตนของนักกีฬาคนนั้น ๆ ไปแล้ว หรือบางครั้งก็ของครอบครัวด้วย เช่น El Santo ที่มีลูกชายชื่อว่า Hijo del Santo (แปลว่า “ลูกชายของ Santo”) และหลานชายชื่อว่า Nieto del Santo (แปลว่า “หลานชายของ Santo”) สืบทอดตำนานจากรุ่นสู่รุ่นต่อไป นอกจากนี้ หน้ากากยังเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีสำหรับ Luchador ซึ่งหากใครถูกคู่ต่อสู้ถอดหน้ากากบนเวทีแล้วนับว่าเป็นความเสื่อมเสียอย่างยิ่ง และ Luchador คนนั้นจะไม่สามารถกลับมาสวมหน้ากากได้อีกต่อไป กลายเป็นนักมวยปล้ำที่ไร้หน้ากาก
นอกจากกีฬาและความบันเทิงแล้ว Lucha Libre ยังเป็นผลิตผลทางวัฒนธรรมที่เม็กซิโกส่งออกไปทั่วโลก โดยหน้ากาก Luchador เป็นสินค้ากีฬาในแบบเดียวกับเสื้อนักฟุตบอล แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นของที่ระลึกที่มีขายตามตลาดนัดหรือแม้กระทั่งในตลาดงานฝึมือพื้นเมือง เมื่อเทียบกันแล้ว Lucha Libre ก็คงคล้ายกับมวยไทยที่เป็นทั้งกีฬา-วัฒนธรรมที่ชาวต่างชาติรู้จักดีและเมื่อมาเที่ยวไทยก็ต้องไปชมการแข่งที่สนามพร้อมกับซื้อกางเกงมวยกลับบ้าน
เนื้อหา: พงศ์สิน เทพเรืองชัย
รูปภาพ: พงศ์สิน เทพเรืองชัย / โพธิ์เงิน รัตนโชติ
Comments