เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ระหว่างเดินอยู่ที่จัตุรัส Grand Place กลางกรุงบรัสเซลส์ ท่ามกลางความว่างเปล่าในช่วงฤดูหนาว (และในสถานการณ์ล็อกดาวน์) ผมได้สังเกตุเห็นแผ่นป้ายที่ติดอยู่หน้าร้านอาหารแห่งหนึ่ง ระบุว่า Karl Marx ฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 1847-1848 ที่นี่ จากนั้นพอเดินถัดไปอีกไม่กี่ก้าวก็พบเห็นแผ่นป้ายลักษณะคล้ายกันนี้อยู่หน้าร้านช็อกโกแลตชื่อดัง ระบุว่า Victor Hugo เคยอาศัยอยู่ที่นี่เมื่อปี 1852
การมา Grand Place ในยามเงียบเหงาปราศจากผู้คนเช่นนี้ทำให้ได้สังเกตเห็นป้ายทั้งสองนี้โดยบังเอิญ นำไปสู่ข้อสงสัยว่า นักเขียนชื่อก้องโลกทั้งสองคนนี้มาทำอะไรกันที่จัตุรัสแห่งนี้ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน มันเป็นเพียงความบังเอิญหรือว่าในยุคนั้นเมืองบรัสเซลส์มีอะไรที่ดึงดูดให้พวกเขามา
กำเนิดประเทศเสรีกลางทวีปยุโรป
กรุงบรัสเซลส์คือเมืองหลวงของเบลเยียม ประเทศที่เกิดใหม่เมื่อปี ค.ศ. 1830 เมื่อ "เนเธอร์แลนด์ใต้" ซึ่งเป็นชาวคริสต์นิกายคาทอลิก ตัดสินใจแยกตัวออกจาก "เนเธอร์แลนด์เหนือ" ซึ่งเป็นชาวคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ เนเธอร์แลนด์ใต้หรือที่ปัจจุบันเรารู้จักกันในชื่อเบลเยียม เป็นประเทศที่มีความคิดเสรีและหัวก้าวหน้ามากในยุคสมัยนั้น มีรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกจึงมีบรรยากาศการเมืองที่แตกต่างจากประเทศรอบด้าน ช่างเหมาะสำหรับเหล่านักเขียนนอกรีตยิ่งนัก
รูปภาพ: ประตูชัยสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1880 ในโอกาสฉลองอายุ 50 ปี ของประเทศเบลเยียม (หลังแยกออกจากเนเธอร์แลนด์เมื่อปี ค.ศ. 1830)
เมื่อช่วงกลางศตวรรษที่ 19 เหล่านักคิดนักเขียนในยุโรปหลายคนต้องหาที่ลี้ภัยในต่างแดนด้วยเหตุความเห็นต่างทางการเมือง บรรยากาศความขัดแย้งและความอยุติธรรมในสมัยนั้นเป็นแรงผลักดันให้เกิดงานเขียนอันเลื่องชื่ออย่าง The Communist Manifesto โดยนักคิดชาวเยอรมนีที่ชื่อคาร์ล มาคซ์ (Karl Marx) และ Les Misérables โดยนักเขียนชาวฝรั่งเศสที่ชื่อวิกตอร์ อูว์โก (Victor Hugo) หากมองดูผิวเผินแล้ว ผลงานสองชิ้นนี้อาจแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ชิ้นหนึ่งเป็นคำแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ ในขณะที่อีกชิ้นหนึ่งเป็นนวนิยาย แต่เมื่อมองลึกลงไปถึงแรงบันดาลใจและชีวิตของผู้เขียนแล้ว ผลงานสองชิ้นนี้มีจุดเริ่มต้นที่คล้ายกันและต่างสะท้อนถึงความอัดอั้นใจของ "ไพร่" ในยุโรปในช่วงศตวรรษที่ 19
The Communist Manifesto เขียนขึ้นระหว่างลี้ภัยที่บรัสเซลส์
ความเห็นต่างทางการเมืองทำให้คาร์ล มาคซ์ นักเศรษฐศาสตร์และนักปราชญ์ชาวเยอรมนี กลายเป็นบุคคลร่อนเร่ไร้สัญชาติ เขาและครอบครัวใช้ชีวิตลี้ภัยอยู่หลายแห่ง โดยเคยอยู่ที่บรัสเซลส์ระหว่างปี ค.ศ. 1845-1848 นั่นคือช่วงเวลาที่มาคซ์ได้ร่วมงานกับเพื่อนนักเศรษฐศาสตร์ร่วมชาติที่ชื่อว่า ฟรีดริช เอ็งเงิลส์ (Friedrich Engels) ผลิตงานออกมาหลายชิ้น หนึ่งในนั้นคือผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของทั้งสองคน นั่นคือ แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ หรือ The Communist Manifesto (ค.ศ. 1848) ซึ่งสะท้อนแนวคิดของพวกเขาทั้งสองว่าสังคมมนุษย์คือประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างชนชั้น และทุนนิยมจะต้องถูกแทนที่ด้วยสังคมนิยมในที่สุด
"บ้านหลังแรก" ของมาคซ์และครอบครัวเมื่อครั้งที่ย้ายมายังบรัสเซสล์คือที่โรงแรม Grand Hôtel de Saxe บนถนน Rue Neuve (มาคซ์และครอบครัวย้ายบ้านกันหลายครั้งในช่วงที่อยู่ที่บรัสเซลส์) ซึ่งปัจจุบันโรงแรมดังกล่าวได้ถูกแทนที่ด้วยร้านค้า ห้างสรรพสินค้า และ Rue Neuve ได้กลายเป็นถนนช็อปปิ้งสายหลักของเมืองบรัสเซลส์ ทำให้เกิดความรู้สึกย้อนแย้งเมื่อนึกว่าครั้งหนึ่งบิดาแห่งระบอบคอมมิวนิสต์เคยมาพักอยู่ตรงนี้
ในช่วงที่อาศัยอยู่ที่บรัสเซลส์ มาคซ์และเอ็งเงิลส์มักนัดประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ (Communist League) ณ โรงเตี้ยม De Swaene (แปลว่า "หงส์") ที่จัตุรัส Grand Place รวมทั้งได้ฉลองส่งท้ายปีเก่า 1847 ต้อนรับปีใหม่ 1848 ที่โรงเตี้ยมแห่งนี้ สองเกลอชาวเยอรมันเป็นสมาชิกที่มีอิทธิพลทางความคิดของพรรคคอมมิวนิสต์ (ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวระหว่างประเทศ มีอีกสำนักงานอยู่ที่อังกฤษ) จนทำให้ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ร่างแถลงการณ์ของพรรคขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1847-1848 เอกสารดังกล่าวถูกตีพิมพ์ที่กรุงลอนดอนและจากนั้นแถลงการณ์ดังกล่าวก็ถูกเผยแพร่ต่อไปยังฝรั่งเศสกับเยอรมนี
รูปภาพ: อาคารที่เคยเป็นโรงเตี้ยม De Swaene จะสังเกตุได้ง่าย ๆ คือ มีรูปปั้นหงส์อยู่เหนือประตูทางเข้า
โรงเตี้ยม De Swaene ในปัจจุบันถูกแทนที่ด้วยร้านอาหาร La Maison du Cygne (แปลว่า "บ้านหงส์") โดยบนผนังภายนอกอาคารมีแผ่นเหล็กที่จารึกไว้ว่าที่แห่งนี้เคยเป็นสถานที่นัดประชุมรวมถึงสถานที่ร่วมฉลองปีใหม่ของพรรคคอมมิวนิสต์ นอกจากนี้ ในยุคต่อมายังเป็นสถานที่ก่อตั้งพรรคแรงงานเบลเยียมเมื่อปี ค.ศ. 1885 เรียกได้ว่าโรงเตี้ยม De Swaene คือแหล่งนัดพบของนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายและผู้สนับสนุนแนวคิดสังคมนิยมในเบลเยียมเมื่อช่วงศตวรรษที่ 19
Les Misérables ถูกตีพิมพ์และจัดแสดงเป็นละครเวทีครั้งแรกที่บรัสเซลส์
ในเวลาไม่กี่ปีหลังจากที่แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ได้เผยแพร่ออกไปทั่วยุโรป วิกตอร์ อูว์โก (Victor Hugo) ได้ตีพิมพ์วรรณกรรมชื่อดังเรื่อง Les Misérables (ค.ศ. 1862) ที่กรุงบรัสเซลส์
วิกตอร์ อูว์โก เคยวิพากษ์วิจารณ์นโปเลียนที่ 3 ซึ่งทำการปฏิวัติและยึดอำนาจการปกครองในฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ. 1851 จนเป็นเหตุให้เขาต้องหนีออกนอกฝรั่งเศสและมาอยู่ที่บรัสเซลส์ระหว่างปี ค.ศ. 1851-1852 จากนั้น เขาไปต่อยังเกาะ Jersey ก่อนจะลงหลักปักฐานที่เกาะ Guernsey ในปี ค.ศ. 1855 (ทั้งสองเกาะเป็นเขตปกครองของอังกฤษ)
ระหว่างอยู่ที่ Guernsey วิกตอร์ อูว์โก ได้เขียนเรื่อง Les Misérables เสร็จสมบูรณ์หลังจากที่เคยเริ่มเอาไว้เมื่อหลายปีก่อน และได้ติดต่อสำนักพิมพ์ Lacroix ที่บรัสเซลส์เพื่อตีพิมพ์หนังสือดังกล่าวในปี ค.ศ. 1862 แน่นอนว่าเขาคงไม่สามารถตีพิมพ์หนังสือเรื่องนี้ในฝรั่งเศสได้ ในยุคที่ Les Misérables ตีพิมพ์ออกมาครั้งแรกผู้นำฝรั่งเศสในตอนนั้นอาจไม่ปลื้มกับงานเขียนชิ้นนี้เสียเลย แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปประเทศฝรั่งเศสก็เปลี่ยนไป (จากจักรวรรดินิยมมาเป็นสาธารณรัฐอย่างในปัจจุบัน) สถานะของวิกตอร์ อูว์โก ก็เปลี่ยนจากนักเขียนนอกรีตมาเป็นนักเขียนที่ได้รับการยกย่องที่สุดคนหนึ่งของฝรั่งเศสจากผลงานชิ้นเดียวกันนี้
ในช่วงเวลาที่วิกตอร์ อูว์โก ลี้ภัยอยู่ที่บรัสเซลส์ เขาอาศัยอยู่ที่บ้านพักในจัตุรัส Grand Place อาคารแห่งนี้ปัจจุบันคือที่ตั้งของร้านช็อกโกแลตเบลเยียมชื่อดังสองยี่ห้อ ได้แก่ Neuhaus และ Pierre Marcolini
ใกล้กับ Grand Place มีห้างสรรพสินค้า Galeries Royales Saint-Hubert ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของยุโรป และวิกตอร์ อูว์โก คือลูกค้าประจำของห้างดังกล่าว ทั้งนี้ นอกจากความน่าตื่นตาตื่นใจและความแปลกใหม่ของห้างสรรพสินค้าแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งที่วิกตอร์ อูว์โก เข้าห้างนี้บ่อย ๆ ก็เนื่องจากเป็นทางเชื่อมเข้าอาคารที่อยู่ติดกัน ซึ่งเป็นบ้านของ Juliette Drouet คนรัก (นอกสมรส) ของวิกตอร์ อูว์โก นั่นเอง
รูปภาพ: ปัจจุบันบ้านของ Juliette Drouet ได้กลายเป็นร้านหนังสือชื่อ Tropismes
ห้างเดียวกันนี้ยังเป็นที่ตั้งของโรงภาพยนตร์ (เป็นสถานที่ฉายภาพเคลื่อนไหวครั้งแรกในเบลเยียมโดยสองพี่น้องกระตูล Lumiere จากฝรั่งเศส) และโรงละคร Théâtre Royal des Galeries เป็นสถานที่จัดการแสดง Les Misérables ฉบับละครเวทีเป็นครั้งแรกด้วย
รูปภาพ: โรงละคร Théâtre Royal des Galeries ในห้าง Galeries Royales Saint-Hubert
Grand Place ลานกว้างที่เปิดกว้างทางความคิด
จากการชำเลืองเห็นแผ่นป้ายที่ติดอยู่หน้าอาคารโบราณสองแห่งเมื่อหลายเดือนก่อน ทำให้ผมเกิดความสงสัยจนเริ่มค้นหาข้อมูลอ่านเพิ่มเติมและกลับมาเดินรอบ Grand Place อีกหลายครั้ง ช่วยให้ได้รู้ประวัติศาสตร์ประเทศเบลเยียมดีขึ้นหน่อย สิ่งหนึ่งที่ได้เข้าใจ คือ Grand Place ไม่ได้เป็นเพียงลานกว้างที่ล้อมรอบด้วยอาคารโอ่โถงที่สร้างโดยชนชั้นสูงในอดีตเท่านั้น แต่ขณะเดียวกันยังเป็นพื้นที่เปิดกว้างทางความคิดและทดลองใช้รัฐธรรมนูญที่ให้เสรีภาพในการแสดงออกฉบับแรก ๆ ของทวีปยุโรปด้วย
แหล่งข้อมูล
Comments