top of page
Writer's pictureพงศ์สิน เทพเรืองชัย

Dinant เมืองป้อมปราการแห่งแม่น้ำเมิซ บ้านเกิดของ Adolphe Sax ผู้สร้างเครื่องดนตรีแซกโซโฟน

ทางตอนใต้ของประเทศเบลเยียมมีเมืองเล็ก ๆ แห่งหนึ่งชื่อว่า Dinant (อ่านว่า "ดีนอง") เมืองนี้มีเครื่องดนตรีแซกโซโฟนเป็นสัญลักษณ์ประจำเมือง ส่วนภาพอันเป็นที่จดจำของผู้ที่ได้มาเยือน คือ กลุ่มบ้านหลากสีติดแม่น้ำที่มีฉากหลังเป็นป้อมปราการบนโขดหินขนาดใหญ่ จึงเป็นที่มาของสโลแกนประจำเมืองว่า Sax and the Citadel




กำเนิดประเทศใหม่ท่ามกลางการสู้รบพันปี


ประเทศเบลเยียมเกิดขึ้นมาได้ส่วนหนึ่งเพื่อเป็น "กันชน" ระหว่างเหล่าคู่อริในยุโรป ได้แก่ ฝรั่งเศส อังกฤษ และปรัสเซีย (เยอรมนีในปัจจุบัน) โดยภายหลังสิ้นสุดสงครามนโปเลียนเมื่อต้นศตวรรษที่ 19 เหล่าผู้แทนทางการทูตจากรัฐต่าง ๆ ในยุโรปได้ร่วมหารือกันที่กรุงเวียนนา (Congress of Vienna) เพื่อหวังสร้างเสถียรภาพในภูมิภาคหลังจากที่มีการต่อสู้กันมาต่อเนื่องเกือบพันปี หนึ่งในผลลัพธ์จากการประชุมดังกล่าวคือการสร้างรัฐกันชนขึ้นมา ชื่อว่า สหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ (United Kingdom of the Netherlands) เมื่อปี ค.ศ. 1815


แต่ทว่ารัฐกันชนที่ถูกตีเส้นขึ้นมาโดยไม่ได้คำนึงถึงความต่างทางเชื้อชาติ ภาษา และศาสนา (ทางเหนือพูดภาษาดัตช์และนับถือคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ ขณะที่ทางใต้พูดภาษาฝรั่งเศสและนับถือคริสต์นิกายคาทอลิก) ทำให้เกิดความตึงเครียดจนกระทั่งนำไปสู่การปฏิวัติในภาคใต้และการแยกตัวออกมาเป็นรัฐอิสระเมื่อปี ค.ศ. 1830 ทั้งนี้ แม้ว่าสหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์จะแตกออกเป็นสองรัฐ ฝั่งเหนือชื่อว่าเนเธอร์แลนด์ ฝั่งใต้ชื่อว่าเบลเยียม แต่ทั้งสองก็ยังคงรักษาบทบาทการเป็นกันชนระหว่างสามมหาอำนาจยุโรปไว้อยู่



ป้อมปราการแห่งแม่น้ำเมิซ


ในพื้นที่ที่มีการสู้รบกันมาต่อเนื่องเป็นเวลานานเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่จะพบเห็นป้อมปราการขนาดใหญ่ตามจุดยุทธศาสตร์ต่าง ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่สูงที่อยู่ติดแม่น้ำ เพื่อป้องกันการรุกล้ำของศัตรู แม่น้ำสำคัญในภูมิภาคนี้คือแม่น้ำเมิซ มีป้อมปราการอยู่ทั้งหมดสี่แห่งซึ่งเรียกรวมกันว่า "ป้อมปราการแห่งแม่น้ำเมิซ" (Meuse Citadels) โดยหนึ่งในนั้นตั้งอยู่ที่เมืองดีนอง




ป้อมปราการดีนอง (Dinant Citadel) ตั้งอยู่บบหน้าผาเหนือเมืองดีนองในจังหวัดนามูร์ (Namur) ของประเทศเบลเยียม พื้นที่นี้เคยเป็นสนามรบมาตั้งแต่ยุคกลาง (ศตวรรษที่ 11) จนถึงยุคพระเจ้าหลุยส์ที่ 11 (ศตวรรษที่ 15) ถึงยุคพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (ศตวรรษที่ 17) และสงครามโลกครั้งที่ 1 (ศตวรรษที่ 20) ทำให้ป้อมปราการแห่งนี้เปลี่ยนมือระหว่างผู้ครอบครองมาแล้วหลายครั้งไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย





ในช่วงสงครามโลกทั้งครั้งที่ 1 และ 2 เยอรมนีได้เข้าตีเมืองดีนองและอีกหลายเมืองในเบลเยียม (เบลเยียมเป็นสนามรบอย่างเลี่ยงไม่ได้เนื่องจากเป็นทางผ่านจากเยอรมนีไปฝรั่งเศส) โดยในสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างที่กองทัพฝรั่งเศสเข้ามาขับไล่ฝ่ายเยอรมนี นายพลฝรั่งเศสนามว่า ชาร์ล เดอ โกล (Charles de Gaulle ผู้ซึ่งต่อมากลายเป็นนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสและหนึ่งในผู้ก่อตั้งสหภาพยุโรป) ได้รับบาดเจ็บตรงสะพานข้ามแม่น้ำ สะพานแห่งนี้จึงถูกตั้งชื่อว่าสะพานชาร์ล เดอ โกล




บ้านเกิดของ Adolphe Sax


เมืองดีนองเป็นแหล่งผลิตเครื่องทองแดงที่ขึ้นชื่อมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 เนื่องจากมีทั้งแร่ทองแดงและมีช่างฝึมือที่รวมตัวกันเป็นสมาคมผู้ผลิตเครื่องทองแดงที่ได้รับการยอมรับไปทั่วยุโรป จึงที่มาของคำว่า "dinanderie" ที่แปลว่าเครื่องทองแดงในภาษาฝรั่งเศส การผลิตเครื่องทองแดงเฟื่องฟูมาจนถึงศตวรรษที่ 15 ก่อนที่จะซบเซาไปหลังจากที่ช่างทองแดงเริ่มย้ายไปยังเมืองอื่น ๆ อย่างไรก็ดี เมืองดีนองก็ไม่เสียชื่อที่เคยเป็นเมืองผลิตเครื่องทองแดงเมื่อในเวลาต่อมาได้มีการผลิตเครื่องดนตรีทองเหลือง (ทองเหลือง หรือ brass เป็นเหล็กอัลลอยที่มีส่วนผสมของทองแดง) โดยสองสามีภรรยา Charles-Joseph Sax และ Marie-Joseph Masson



สองสามีภรรยาคู่นี้ได้ให้กำเนิดลูกชายชื่อว่า Adolphe Sax เมื่อปี ค.ศ. 1814 ซึ่งลูกก็เดินรอยตามพ่อแม่และเริ่มสร้างเครื่องดนตรีเองตั้งแต่เยาว์วัย แต่สิ่งหนึ่งที่เขาทำต่างพ่อแม่ของเขาคือการพยายามคิดค้นเครื่องดนตรีประเภทใหม่ ๆ จนทำให้ชั่วชีวิตเขาได้จดสิทธิบัตรเครื่องดนตรีหลายชิ้น โดยชิ้นที่มีชื่อเสียงที่สุดก็คือแซกโซโฟน (saxophone) เครื่องดนตรีที่ตั้งชื่อตามนามสกุลของเขาเอง




บนสะพานชารล์ เดอ โกล และตามถนนในเมืองดีนองมีรูปปั้นแซกโซโฟนขนาดใหญ่หลากลวดลายและสีสันที่ออกแบบโดยประเทศต่าง ๆ เป็นงานศิลปะและสัญญลักษณ์ของมิตรภาพระหว่างเบลเยียมกับประเทศเหล่านั้น




ผมก็คงจะเหมือนคนส่วนใหญ่ที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าเครื่องดนตรีแซกโซโฟนนั้นมีหลายประเภท หลายขนาด ที่ผ่านมาเคยเข้าใจผิดมาตลอดว่าแซกโซโฟนก็คือแซฟกโซโฟน พอมาถึงเมืองนี้จึงได้เห็นตามท้องถนนที่ติดป้ายอธิบายว่าแซกโซโฟนแยกออกเป็นขนาดต่าง ๆ ตั้งแต่ขนาดเล็กไปถึงใหญ่ ได้แก่ Sopranissimo, Sopranino, Soprano, Alto, Tenor, Baritone, Bass, Contrabass เมื่อเดินตามป้ายเหล่านี้ไปเรื่อย ๆ ก็มาถึงบ้านของ Adolphe Sax



บ้านหลังนี้ตั้งอยู่บนถนน Adolphe Sax (Rue de Adolphe Sax) เลขที่ 37 ตัวอาคารนี้สร้างขึ้นบนทำเลที่เมื่อครั้งหนึ่งเคยเป็นบ้านในวันเด็กของ Adolphe Sax ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นสถานที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประดิษฐ์เครื่องดนตรีแซกโซโฟน โดยตั้งชื่ออาคารแห่งนี้ว่า La Maison de Monsieur Sax หรือ บ้านของนายแซกซ์



ณ ม้านั่งหน้าบ้าน มีรูปหล่อทองเหลืองของ Adolphe Sax นั่งอยู่ พร้อมกับเครื่องดนตรีชื่อดังที่เขาประดิษฐ์ขึ้น



ภายใน "บ้าน Sax" จัดเป็นนิทรรษการเล่าเรื่องราวชีวิตของเขากับการประดิษฐ์เครื่องดนตรีประเภทต่าง ๆ



Adolphe Sax รู้สึกว่าเครื่องดนตรีในยุคสมัยนั้นยังมีน้ำเสียงที่ไม่ลงตัว บ้างก็แข็งเกินไป บ้างก็อ่อนเกินไป เขาจึงพยายามหาความสมดุลตรงนี้ และพยายามสร้างเครื่องดนตรีเป่าที่สามารถสื่อสารอารมณ์ได้แบบเครื่องดนตรีสาย ในยุคนั้นคนส่วนใหญ่เชื่อว่าเสียงของเครื่องดนตรีเป่าจะเปลี่ยนไปตามวัสดุที่ใช้แต่ Adolphe Sax เชื่ออีกอย่างหนึ่งว่าเสียงของเครื่องดนตรีจะเปลี่ยนไปตามขนาดและสัดส่วนของท่อในเครื่องดนตรีเป่า เขาจึงทดลองกับหลากรูปทรงและขนาด จนเกิดเป็นตระกูลเครื่องดนตรีประเภทใหม่ นั่นก็คือแซกโซโฟน



เมื่อปี ค.ศ. 1846 Adolphe Sax ได้จดสิทธิบัตรเครื่องดนตรีตระกูลแซกโซโฟนที่กรุงปารีส



บนถนน Rue de Adolphe Sax) เราจะพบเห็นวรอยเท้าที่ทำจากทองเหลือพร้อมชื่อกับลายเซ็นของบุคคลสำคัญอื่น ๆ ที่มีส่วนร่วมในความสำเร็จของ Adolphe Sax ในการสร้างเครื่องดนตรีแซกโซโฟน อย่างเช่น Hector Berlioz นักประพันธ์ชาวฝรั่งเศสที่ชื่นชมเครื่องดนตรีของ Adolphe จึงช่วยผลักดันให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับในวงการดนตรีของฝรั่งเศส



ก่อนจะจบเรื่องเล่าของ Adolphe Sax กับเมืองดีนอง เราจะขอย้อนกลับมาที่สะพานชาร์ล เดอ โกล กันอีกครั้ง เพราะสะพานแห่งนี้ถือว่าเป็นแลนด์มาร์คที่รวบรวมเรื่องราวที่เพิ่งเล่าไปทั้งหมดไว้อยู่ในภาพ ๆ เดียว เวลาเดินข้ามสะพานชารล์ เดอ โกล แล้วมายืนดูจากมุมเดียวกันกับรูปถ่ายด้านบนนี้ เราจะเห็นรูปปั้นแซกโซโฟนสีธงชาติเบลเยียมและป้อมปราการแห่งดีนอง หรือ Sax and the Citadel จากบนสะพานที่ตั้งชื่อตามบิดาแห่งสหภาพยุโรป นับเป็นการสรุปประวัติศาสตร์แบบย่อของเมืองดีนอง



แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม


588 views0 comments

Comments


bottom of page