เมื่อประมาณเจ็ดร้อยปีที่แล้ว ชาวอาซเทค (Aztec) ในประเทศเม็กซิโกตัดสินใจสร้างเมืองขึ้นในทำเลที่ไม่น่าจะเป็นเมืองได้ นั่นคือ สร้างเมืองขึ้นกลางทะเลสาบ ความท้าทายในการสร้างเมืองบนทำเลเช่นนี้ไม่ได้จบแค่การถมที่และสร้างอาคาร แต่ยังมีอีกโจทย์สำคัญที่ต้องไขให้ได้ว่าจะทำการเกษตรอย่างไรในเมืองที่ไม่มีผืนดิน ข้อจำกัดเช่นนี้เองทำให้พวกเขาต้องคิดนอกกรอบและสร้างนวัตกรรมทางการเกษตรขึ้นมาเพื่อความอยู่รอด โดยคำตอบของพวกเขา คือ ทำการเกษตรลอยน้ำ
เหตุไฉนจึงมาสร้างเมืองกลางทะเลสาบ
หลายคนคงสงสัยกันว่าชาวอาซเทคคิดอย่างไรจึงมาสร้างเมืองขึ้นกลางทะเลสาบตั้งแต่แรก เรื่องนี้มีคำอธิบายอยู่ว่า ชาวอาซเทคเดิมเป็นเผ่าพเนจรโดยมีความเชื่อว่าพระเจ้าประสงค์ให้พวกเข้าปักหลักสร้างเมืองขึ้นเมื่อพบเห็นพญาอินทรีที่กินงูอยู่บนต้นกระบองเพชร และอยู่มาวันหนึ่งพวกเขาได้มาพบเห็นสิ่งนี้บนเกาะกลางทะเลสาบ Texcoco (เต็กซ-โก-โก) เขาจึงเริ่มสร้างเมืองขึ้นที่นี่เมื่อปี ค.ศ. 1325 เมืองแห่งนี้มีชื่อว่า Tenochtitlán (เต-โนช-ติต-ลัน) ซึ่งในปัจจุบันเรารู้จักกันในนามกรุงเม็กซิโก หรือ Mexico City เมืองหลวงของประเทศเม็กซิโก
ภาพของพญาอินทรีคาบงูอยู่บนต้นกระบองเพชรได้กลายมาเป็นตราสัญลักษณ์ประชำชาติที่ปรากฏบนธงชาติเม็กซิโก และเป็นตราราชการของเม็กซิโก
Chinampa เกาะเทียมลอยน้ำสำหรับทำการเพาะปลูก
ในเมื่อเมืองตั้งอยู่กลางน้ำ ชาวอาซเทคจึงต้องหาวิธีปลูกผักในน้ำโดยได้คิดค้นวิธีที่เรียกว่า “ชีนามปา” (chinampa) ซึ่งเปรียบเสมือนการสร้างเกาะเทียมลอยน้ำ โดยนำพืชจำพวกกกมาถักหวายเป็นตาข่ายลอยอยู่บนน้ำ บนผืนตาข่ายนี้ปลูกพืชน้ำจนเต็มพื้นที่ จากนั้นค่อยโรยดินทับถมขึ้นมาจนกระทั่งเป็น “เกาะ” ชาวอาซเทคอาศัยการสร้างเกาะเทียมแบบนี้ขึ้นมาจำนวนมากเพื่อให้สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอต่อการบริโภค
ใครที่เห็นกรุงเม็กซิโกในปัจจุบันคงนึกไม่ถึงว่าที่นี่เคยเป็นเมืองเตโนชติตลันที่เมื่อก่อนตั้งอยู่กลางทะเลสาบเต็กซโกโก และคงดูไม่ออกด้วยซ้ำว่าทำเลนี้เมื่อครั้งหนึ่งเคยมีทะเลสาบ ความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นในยุคที่สเปนเข้ามาสร้างอาณานิคม (เม็กซิโกเป็นเมืองขึ้นของสเปนระหว่างปี ค.ศ. 1521-1821) ซึ่งมีการถมที่เพื่อสร้างเมืองใหม่และสูบน้ำออกเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม ทำให้ทะเลสาบเต็กโกโกแห้งเหือดลงและพร้อมกันนี้ การทำเกษตรบนชีนามปาก็แทบจะหมดความจำเป็นลงไป เหลือเพียงแต่ในทะเลสาบ Xochimilco (โซ-ชี-มิล-โก) ที่อยู่ทางตอนใต้ของเมืองเตโนชติตลันที่ยังมีผืนน้ำและยังทำเกษตรบนชีนามปาอยู่
คำว่า Xochimilco ในภาษาของชาวอาซเทค (ภาษา Nahuatl - นาอวาตล์) แปลว่า “สถานที่ปลูกดอกไม้” เนื่องจากบริเวณนี้เพาะปลูกดอกไม้กันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และยังเป็นที่ตั้งของตลาดดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในลาตินอเมริกา นั่นคือ ตลาด Cuemanco
สถานที่ท่องเที่ยวที่ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
การสร้างชีนามปาและการทำเกษตรลอยน้ำสะท้อนถึงความพยายามของมนุษย์ที่ต้องหาวิธีอยู่รอดและเอาชนะความท้าทายจากธรรมชาติ รวมถึงยังเป็นการสะท้อนวิถีชีวิต-วัฒนธรรมของชาวอาซเทคกับประวัติศาสตร์ของกรุงเม็กซิโก ด้วยเหตุนี้ โซชีมิลโกจึงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโก (UNESCO) เมื่อปี ค.ศ. 1987 รวมถึงเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่ได้รับความนิยมทั้งจากชาวเม็กซิกันและนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ โครงข่ายลำคลองในทะเลสาบโซชีมิลโกจะเต็มไปด้วยเรือไม้สีสันสดใสที่เรียกว่า trajinera (ตรา-ฆี-เน-รา) เรือประเภทนี้ไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนตร์แต่อาศัยกำลังมนุษย์ โดยผู้คุมเรือใช้ท่อนไม้ขนาดยาวดันลงไปที่พื้นดินใต้น้ำเพื่อให้เรือขยับไปข้างหน้า ถ้าการจราจรไม่แออัดนัก ผู้คุมเรือก็จะ “พายเรือ” ไปเช่นนี้ แต่บางช่วงที่การจราจรติดขัด ผู้คุมเรือแต่ละคนก็จะใช้วิธีเอาเท้าไปยันกับเรือลำอื่นเพื่อดันเรือของตนให้ขยับผ่านไปเรื่อย ๆ บางครั้งอาจมีเรือนับสิบลำติดขัดกันอยู่ โดยเฉพาะในตอนที่เรือกำลังออกจากท่าหรือกลับเข้าท่าซึ่งก่อให้เกิดเป็นคอขวด
เรือตราฆีเนรามีบริการเฉพาะแบบเหมาลำโดยคิดเป็นรายชั่วโมง มีตั้งแต่ 1-2 ชั่วโมงไปจึงถึงเหมาทั้งวัน คนที่มาขึ้นเรือจะมากันเป็นกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเพื่อนหรือกลุ่มครอบครัว พร้อมทั้งเตรียมอาหารและเครื่องดื่มมาเพื่อจัดปิคนิคกันบนเรือ นอกจากนี้ ยังมีบริการนักดนตรี mariachi (มา-รี-อะ-ชี) ที่สามารถจ้างมาให้บรรเลงสดได้ระหว่างมื้ออาหารที่ช่วงสร้างบรรยากาศ “ปาร์ตี้ลอยน้ำ” รวมถึงมีเรือขายเครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยวผ่านมาเป็นระยะ ๆ ที่ทำให้เราหวนนึกถึงตลาดน้ำที่ไทย
ชีวิตบนสายน้ำกับเรื่องเล่าสยองขวัญ
นอกจากการทำเกษตรลอยน้ำ และการจัดปาร์ตี้ลอยน้ำบนเรื้อไม้สีสันฉูดฉาดแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของโซชีมิลโก คือ เกาะตุ๊กตา ซึ่งมีตำนานเล่าขานกันว่าเมื่อหลายสิบปีก่อน ผู้ดูแลเกาะแห่งนี้พบศพเด็กผู้หญิงที่จมน้ำเสียชีวิต และหลังจากนั้นได้พบกับตุ๊กตาตัวหนึ่งซึ่งเขาเชื่อว่าน่าจะเป็นของเด็กผู้หญิงคนดังกล่าว เขาจึงนำตุ๊กตามาแขวนไว้ จากนั้นเขาเริ่มนำตุ๊กตามาแขวนเพิ่มเรื่อย ๆ ซึ่งตลอดหลายสิบปีที่เขาดูแลเกาะแห่งนี้ ผู้คนในระแวกใกล้เคียงสันนิษฐานกันไปต่าง ๆ นา ๆ ว่าเหตุใดเขาถึงนำตุ๊กตามาแขวนเพิ่มเรื่อย ๆ จนเกิดเป็นตำนานสยองขวัญ ทำให้เกาะตุ๊กตากลายเป็นสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวต่างชาติ จนถึงขนาดว่ามีสื่อต่างประเทศหลายแห่งมาทำสารคดีเกี่ยวกับสถานที่นี้
จะว่าไปแล้วโซชีมิลโกสะท้อนให้เห็นความคล้ายกันหลายอย่างระหว่างคนเม็กซิกันกับคนไทย ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตการทำเกษตรกรรม วิถีชีวิตบนแม่น้ำลำคลอง หรือแม้กระทั่งความนิยมในการเล่าขานตำนานสยองขวัญตามสถานที่ต่าง ๆ ไม่น่าเชื่อว่าในดินแดนที่อยู่ซีกโลกตรงกันข้ามกับไทยจะมีอะไรที่คล้ายคลึงกันจนทำให้รู้สึกว่าเราใกล้ชิดกันกว่าที่คิดเยอะ
ข้อมูลอ้างอิง
Comments