top of page
Writer's pictureพงศ์สิน เทพเรืองชัย

ปาท่องโก๋ ท่องทั่วโลกไปกับขนมปังทอด

ปาท่องโก๋เป็นของกินเล่นสุดเรียบง่ายที่กินได้ไม่เบื่อ ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปอย่างไรหรือมีของกินเล่นประเภทใหม่ ๆ เข้ามาเบี่ยงเบนความสนใจของเราไปบ้าง แต่ท้ายที่สุดแล้วปาท่องโก๋ก็ยังคงยึนหยัดอยู่คู่สังคมเรื่อยมา ตลาดนัดในประเทศไทยแทบทุกแห่งต้องมีร้านขายปาท่องโก๋ที่ในช่วงเช้ามีลูกค้าทั้งขาประจำและขาจรมาซื้อกลับไปกินที่บ้าน และในช่วงหลายปีหลังมานี้ก็เริ่มมีปาท่องโก๋ขายตามศูนย์อาหารของห้างสรรพสินค้าใหญ่ ๆ ด้วย ความนิยมในการกินขนมปังทอดนี้ไม่ได้มีเฉพาะแต่ในไทยหรือในเอเชีย แต่ดูเหมือนว่าจะเป็นวัฒนธรรมที่เรามีร่วมกันรอบโลก ไม่ว่าจะในทวีปยุโรป หรือในทวีปอเมริกา



ปาท่องโก๋ที่เรากินกันในเมืองไทยนั้นได้รับอิทธิพลมาจากประเทศจีน แต่ของคนไทยเราจะกินกันชิ้นเล็ก ๆ ในขณะที่ปาท่องโก๋จีนจะชิ้นยาวเกือบหนึ่งข้อศอก ทั้งนี้ สิ่งที่เหมือนกันไม่ว่าขนาดจะสั้นหรือยาวก็คือปาท่องโก๋ต้องมาเป็นคู่ ซึ่งเรื่องนี้มีตำนานอยู่ว่าชาวจีนในสมัยราชวงศ์ซ่งรู้สึกโกรธแค้นขุนนางกับภรรยาของเขาที่คิดกบฏ จึงทำการสาบแช่งสองสามีภรรยาคู่นี้ด้วยการปั้นแป้งเป็นตัวคู่มาทอดในกระทะน้ำมัน และนี่คือเหตุว่าทำไมปาท่องโก๋ถึงมาเป็นคู่


คนไทยจะค่อนข้างติดการกินอาหารรสหวาน ดังนั้นจึงมีการนำปาท่องโก๋มาจิ้มกับนมข้นหรือกับสังขยา (นับเป็นการผสมโรงที่น่าสนใจระหว่างปาท่องโก๋ที่ได้รับอิทธิพลจากจีน กับ สังขยาที่ได้รับอิทธิพลจากโปรตุเกส) แต่คนจีนจะนิยมกินเป็นอาหารคาวเสียมากกว่า เช่น กินคู่กับโจ๊ก หรือกินคู่กับบักกุ๊ดเต๋แบบคนจีนในมาเลเซีย



จากเอเชียขยับไปยังทวีปยุโรป เราก็จะเจอ "ปาท่องโก๋" อีกรูปแบบหนึ่ง นั่นก็คือ ชูโร่ (churro) ขนมปังทอดของชาวสเปนและโปรตุเกส


ที่มาของชูโร่นั้นไม่ชัดเจนเท่าไหร่ แต่หลายคนก็เชื่อว่าได้รับอิทธิพลมาจากปาท่องโก๋ของจีน โดยชาวโปรตุเกสที่กลับจากเมืองจีนเป็นผู้นำไอเดียนี้เข้ามาในยุโรป และมีการประยุกต์เพิ่มทั้งในสูตรของแป้งที่ใช้และวิธีการทำซึ่งเปลี่ยนจากการปั้นเป็นตัวและนำลงไปทอด เป็นการใช้เครื่องบีบแป้งออกมาเป็นสายไหลลงสู่น้ำมัน และเมื่อทอดเสร็จแล้วค่อยนำขึ้นจากน้ำมันมาตัดเป็นท่อน ๆ



ชูโร่เป็นของหวานอย่างเต็มตัว ไม่มีการกินคู่กับอาหารคาว เป็นของกินเล่นที่แพร่หลายทั้งในและนอกยุโรป โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของสเปนและโปรตุเกส ตั้งแต่เม็กซิโกลงไปถึงอเมริกาใต้ มาจนถึงฟิลิปปินส์ ถ้ากินแบบดั้งเดิมเลยก็จะเป็นแท่งยาวที่โรยด้วยน้ำตาล หรือน้ำตาลคลุกกับผงซินนามอน (อบเชย) แต่ปัจจุบันมีการคิดค้นวิธีการนำเสนอใหม่ ๆ เช่น ทำแป้งขดเป็นวงกลมและมาประกบกับไอศครีมให้เป็นแซนด์วิช (คล้าย ๆ กับแซนด์วิชคุ๊กกี้ประกบไอศครีมของชาวอเมริกัน)




ในขณะที่คนไทยนิยมกินปาท่องโก๋จิ้มนมข้น คู่กับน้ำเต้าหู้ร้อน คนเม็กซิกันจะนิยมกินชูโร่จิ้มช็อกโกแลต และคู่กับนมช็อกโกแลตร้อน เป็นอีกหนึ่งการผสมโรงที่น่าสนใจระหว่างของกินเล่นที่ถือกำเนิดในสเปนกับเครื่องดื่มที่ถือกำเนิดในเม็กซิโก



จากเม็กซิโกเมื่อขึ้นไปทางเหนือเราก็จะเข้าสู่ดินแดนขนมปังทอดอีกแห่ง นั่นก็คือ สหรัฐอเมริกา


ขนมปังทอดอเมริกันมีชื่อว่า "โดนัท" มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือมีห่วงตรงกลาง ในเหล่าขนมปังทอดทั้งหมด โดนัทน่าจะเป็นประเภทที่แพร่หลายที่สุดทั่วโลก สืบเนื่องจากความสำเร็จของเหล่าบริษัทอเมริกันอย่าง Dunkin Donuts กับ Krispy Kreme


ประวัติของโดนัทสะท้อนถึงความเป็นชาติอเมริกันได้ดี เพราะว่าเป็นของหวานที่ผู้อพยพชาวยุโรป (ดัตช์) นำเข้ามายังสหรัฐฯ ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ที่หมู่บ้าน New Amsterdam ในนครนิวยอร์ก ในสมัยนั้นขนมนี้เรียกว่า olykoek (oily cake) หรือ "เค้กมัน" เนื่องจากเป็นขนมปังที่ทอดมาในน้ำมัน และภายในเวลาไม่กี่สิบปีต่อมา "เค้กมัน" ก็ได้แทรกซึมสู่สังคมอเมริกันและมีวิวัฒนาการสำคัญ คือ การเจาะให้มีรูตรงกลาง รวมถึงเริ่มมีการใช้ชื่อใหม่ว่า "doughnuts" (ปัจจุบันมักสะกดว่า donuts)



โดนัทนี่แทบจะเรียกได้ว่าเป็นอาหารประจำชาติ (ประเภทของหวาน) ของสหรัฐอเมริกาเลยทีเดียว เราจะคุ้นชินกันดีกับภาพของตำรวจยืนกินโดนัทกับกาแฟที่วางไว้บนหลังคารถจากภาพยนตร์ฮอลลิวูดนับไม่ถ้วน หรือหากใครที่เคยดูการ์ตูนเรื่อง The Simpsons (ซีรีส์ยาวนานที่สุดในโลกที่ออกอากาศต่อเนื่องมากว่า 30 ปี) ก็จะรู้กันดีว่าอาหารโปรดของ Homer Simpson คือโดนัท และอีกภาพที่จำกันได้ติดตาคือภาพยนตร์เรื่อง Iron Man มีอยู่ฉากหนึ่งที่ตัวพระเอก Tony Stark นั่งกินโดนัทอยู่บนหลังคาร้าน Randy's Donuts (ร้านดังในตำนานแห่งหนึ่งของนครลอสแอนแจลิส)


นอกจากของหวานประเภทนี้จะโดดเด่นอยู่ในวงการบันเทิงแล้ว โดนัทยังได้รับเกียรติจากแวดวงทหารอเมริกันด้วยการกำหนด "วันโดนัทแห่งชาติ" ขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1938 เพื่อเป็นการยกย่องเหล่าอาสาสมัครที่สนับสนุนกองทัพสหรัฐฯ ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งด้วยการทำโดนัทเสิร์ฟให้กับทหารอเมริกันที่ไปรบ วันโดนัทแห่งชาตินี้จัดขึ้นในวันศุกร์แรกของเดือนมิถุนายนทุกปี โดยร้านโดนัทหลายแห่งในสหรัฐฯ จะแจกโดนัทให้กินฟรีกัน




Donut มีเพื่อนสัญชาติเยอรมนีที่ชื่อว่า Berliner ซึ่งมีลักษณะโดยรวมคล้ายคลึงกันมาก ทั้งตัวแป้ง รูปทรง และการโรยหน้าด้วยน้ำตาลหรือเคลือบช็อกโกแลต แต่ข้อแตกต่างหลักคือเบอร์ลินเนอร์ไม่มีรูตรงกลางและมีไส้ข้างใน


นอกจากนี้ ในสหรัฐอเมริกาเรามักจะได้ยินคนเรียกชูโร่เป็นภาษาอังกฤษว่า "Spanish donut" หรือ โดนัทสเปน และเรียกปาท่องโก๋ว่า "Chinese donut" หรือ โดนัทจีนด้วย ทำให้รู้สึกว่าเหล่าขนมปังทอดทั้งหมดนี้ล้วนเป็นญาติสนิดมิตรสหายกันนั่นเอง


ไม่ว่าเราจะไปที่ไหนในโลกก็คงได้เจอขนมปังทอดในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง (ไม่เพียงเฉพาะแต่ที่เล่าถึงข้างต้น) มีทั้งหวานทั้งคาวต่างกันไปตามแต่ละวัฒนธรรม เมื่อได้กินแล้วก็อาจยากที่จะหยุดจึงต้องไม่ลืมที่จะเบรกตัวเองและกินอย่างพอประมาณด้วย

257 views0 comments

Commentaires


bottom of page