top of page
Writer's pictureพงศ์สิน เทพเรืองชัย

Ghent เมืองตึกระฟ้ายุคกลาง

ตึกสูงระฟ้าเป็นดัชนีหนึ่งที่มักถูกนำมาใช้วัดความเจริญรุ่งเรืองของเมือง ในช่วงไม่กี่ปีมานี้มีการทำลายสถิติกันไปหลายครั้งโดยเฉพาะในในซีกโลกตะวันออกที่เศรษฐกิจหลายประเทศกำลังเติบโต เริ่มตั้งแต่ตึก Petronas ของกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ที่แซงหน้าตึก Sears ในชิคาโกเมื่อปี ค.ศ. 1998 (นับเป็นครั้งแรกในรอบร้อยปีที่ตึกที่สูงที่สุดของโลกไม่ได้อยู่ในสหรัฐอเมริกา) และเพียงไม่กีปีต่อมา ตึก Petronas ก็ถูกแซงหน้าโดย Taipei 101 ที่ไทเป ไต้หวัน ซึ่งถูกแซงอีกทีโดย Burj Khalifa ที่ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์


หากแต่ความเชื่อเรื่องตึกสูงกับความเจริญไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่แต่อย่างใด มนุษย์เราคิดแบบนี้มาหลายร้อยปีแล้ว และได้พยายามสร้างตึกระฟ้ากันมาตั้งแต่ที่ยังไม่รู้จักใช้เหล็กในการก่อสร้างด้วยซ้ำ สิ่งปลูกสร้างที่ว่านี้คือหอระฆังนั่นเอง



ในช่วงยุคกลาง (ศตวรรษที่ 5 ถึงศตวรรษที่ 15) เมืองที่รุ่งเรืองในยุโรปจะมีหอระฆังที่สูงโด่งกว่าบ้านเรือนหลังอื่น ๆ ทั้งหมด โดยหอระฆังเหล่านี้มีการกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ซึ่งปัจจุบันคือประเทศเบลเยียมและฝรั่งเศส เมื่อปี ค.ศ. 1999 องค์กรยูเนสโก (UNESCO) ได้ขึ้นทะเบียนหอระฆัง 32 แห่งในเบลเยียมเป็นมรดกโลก และต่อมาในปี ค.ศ. 2005 ได้ขึ้นทะเบียนหอระฆังอีก 1 แห่งในเบลเยียม พร้อมกับ 23 แห่งในฝรั่งเศส (รวมทั้งสิ้นเป็น 56 หอระฆังในสองประเทศ)



เมืองเกนท์ (Ghent หรือ Gent หากสะกดแบบดัตช) เคยเป็นเมืองที่เฟื่องฟูมากในยุคกลาง เป็นรองก็แค่ปารีส โดยในสมัยนั้นเกนท์กับบรูช (Bruges / Brugge) คือเมืองท่าและเมืองการค้าหลักประจำภูมิภาคเนื่องจากอยู่ใกล้ทะเล มีแม่น้ำไหลผ่าน และมีระบบคลองที่รองรับการขนส่งสินค้าทางเรือ ยุครุ่งเรืองนี้เป็นช่วงสมัยเดียวกับที่ชาวยุโรปเริ่มมีความทะเยอทะยานที่จะสร้าง "ตึกระฟ้า" ซึ่งรูปแบบคือหอคอย/หอระฆัง



รูปภาพ: เกนท์เป็นเมืองที่ล้อมรอบด้วยแม่น้ำ (แม่น้ำ Leie มาบรรจบกับแม่น้ำ Scheldt) และลำคลองเหมือนที่เวนีซ หรือที่เกาะรัตนโกสินทร์ในกรุงเทพฯ


แน่นอนว่าเมืองที่ร่ำรวยอย่างเกนท์คงไม่ยอมน้อยหน้าใครและได้สร้างหอระฆังเรียงรายกันไปบนท้องถนน โดยตึกระฟ้าที่โดดเด่นที่สุดได้แก่ หอระฆังที่โบสถ์ St. Nicholas หอระฆังแห่งเมืองเกนท์ และหอระฆังที่โบสถ์ St. Bavo หากเราจินตนาการย้อนหลังถึงความรู้สึกของผู้คนในสมัยนั้นก็คงจะคล้าย ๆ กับคนในยุคปัจจุบันที่มองดูตึกสูงตลอดเส้นถนนในมหานครนิวยอร์ก


รูปภาพ: จากสะพาน St. Michael เราจะเห็นหอระฆังที่โบสถ์ St. Nicholas หอระฆังแห่งเมืองเกนท์ และหอระฆังที่โบสถ์ St. Bavo เรียงกันไปบนถนน



โบส์ถ St. Nicholas


โบส์ถ St. Nicholas (St. Nicholas Church) เป็นหนึ่งในสามตึกระฟ้ายุคกลางแห่งเมืองเกนท์ สถาปัตยกรรมของโบส์ถนี้เป็นการผสมผสานระหว่างสไตล์โรมัน (Romanesque) กับสไตล์โกธิก (Gothic) และอีกหนึ่งความโดดเด่นคือใช้หินที่มีโทนสีออกฟ้าซึ่งขนมาจากเมืองตูร์เน (Tournai)



โบสถ์นี้สร้างขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 13 ในย่านการค้ากลางเมือง โดยได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากพ่อค้าเพื่อแสดงถึงฐานะทางเศรษฐกิจของเมืองให้เป็นที่ประจักษ์ โบสถ์ St. Nicholas ได้รับความนิยมจากสมาคมพ่อค้าในช่วงยุคกลางซึ่งสมาคมพ่อค้าเคยมีวิหารเป็นของตนเองอยู่ภายในโบสถ์ด้วย



หอระฆังที่โบสถ์ St. Nicholas เคยใช้เป็นหอคอยสำหรับเฝ้าระวังภัยจนกระทั่งปี 1442 ที่นายเวรย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ยังหอระฆังแห่งเมืองเกนท์แทน การเฝ้าระวังภัยในสมัยนั้นไม่ใช่เพียงเรื่องของศัตรูที่มาบุกรุก หากแต่ภัยที่ประสบมากที่สุดจนทำให้ต้องมีการเฝ้าระวังในสมัยนั้น คือ อัคคีภัย



หอระฆังแห่งเมืองเกนท์


หอระฆังแห่งเมืองเกนท์ (Belfry of Ghent) สร้างขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 14 โดยเป็นหอระฆังที่สูงที่สุดในเบลเยียม มีความสูงอยู่ที่ 91 เมตร ในช่วงแรกหอระฆังนี้ใช้เพื่อกิจทางศาสนาเป็นหลักและต่อมาได้ถูกนำมาใช้เพื่อบอกเวลาให้กับประชาชน โดยเสียงระฆังจะดังขึ้นทุก 15 นาที



ในอดีต หอระฆังนี้ไม่ได้มีหน้าที่แต่เพียงบอกเวลาเท่านั้น แต่ยังเป็นหอคอยสำหรับเฝ้าระวังภัยตามที่ได้กล่าวถึง รวมทั้งเป็นสถานที่จัดเก็บกฎบัตรแห่งเมืองด้วย นอกจากนี้ ตัวอาคารที่ฐานของหอระฆังยังเคยเป็นศูนย์ค้าผ้าซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่ทำให้เกนท์เป็นเมืองที่มั่งคั่งในยุคกลาง ศูนย์ค้าผ้าแห่งนี้คือสถานที่สำหรับตรวจสอบคุณภาพ วัดขนาด และเจรจาต่อรองราคาผ้า รวมถึงมีพื้นที่ส่วนหนึ่งที่ถูกแบ่งส่วนไว้ใช้เป็นเรือนจำของเมืองด้วย



พิพิธภัณฑ์ภายในหอระฆังอธิบายว่าเมื่อก่อนระฆังเป็นตัวบ่งบอกเวลาให้แก่ผู้คนในเมือง สมัยนั้นคนส่วนใหญ่ยังอ่านเข็มนาฬิกาไม่เป็น ดังนั้น จึงต้องอาศัยเสียงระฆังที่ดังขึ้นทุกชั่วโมงเป็นตัวช่วยบอกเวลา คำว่า "ระฆัง" ในภาษาดัตช คือ "kloek" อ่านว่า "คล็อค" เมื่อฟังอย่างนี้แล้ว หลายคนอาจเดากันถูกว่า "clock" ในภาษาอังกฤษที่แปลว่า "นาฬิกา" มีที่มาจากรากศัพท์นี้เอง




โบสถ์ St. Bavo


ตามบันทึกข้อมูลเท่าที่มีในปัจจุบัน นักประวัติศาสตร์เชื่อกันว่าโบสถ์ St. Bavo (St. Bavo's Cathedral) ได้รับพรให้สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 942 โดยการก่อสร้างดำเนินเรื่อยมาอีกหลายร้อยปีจนกระทั่งเสร็จสิ้นในปี ค.ศ. 1569 โดยที่การก่อสร้างใช้เวลาหลายศตวรรษ การออกแบบโฉมหน้าจึงมีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยโดยช่วงศตวรรษสุดท้ายของการก่อสร้างเป็นยุคที่สถาปัตยกรรมโกธิกกำลังได้รับความนิยม โบสถ์นี้จึงปรับรูปโฉมมาเป็นแบบโกธิกและคงเช่นนั้นมาจนถึงปัจจุบัน



เมืองเกนท์นอกจากจะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของยุโรปในอดีตแล้ว ยังเป็นบ้านเกิดของพระเจ้าชารลส์ที่ 5 (เกิดปี ค.ศ. 1500) จักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ หรือ Holy Roman Emperor ระหว่างปี ค.ศ. 1519-1556 โดยชารลส์ที่ 5 ได้เข้าพิธีเป็นคริสต์ศาสนิกชนที่โบสถ์ St. Bavo


หากจะกล่าวถึงอำนาจอิทธิพลของพระเจ้าชารลส์ที่ 5 ให้พอเห็นภาพโดยสรุป คือ ปกครองยุโรปตั้งแต่สเปนไปจนถึงอิตาลี และยังส่งเหล่านักบุกเบิกไปสร้างอาณานิคมตั้งแต่อเมริกาเหนือลงไปถึงอเมริกาใต้ด้วย



หอนาฬิกาหลังยุคกลาง


แม้ในช่วงหลังจากยุคกลางได้ผ่านพ้นไปแล้ว อาคารหลายแห่งที่สร้างขึ้นในเมือง Ghent ยังคงยึดโยงกับการมีหอนาฬิกาต่อไป ไม่ว่าจะเป็นอาคารไปรษณีย์หรือสถานีรถไฟที่สร้างขึ้นเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 หากแต่หอนาฬิกาเหล่านี้ไม่ได้มีขนาดสูงใหญ่หรือโดดเด่นเหมือนดังหอระฆังจากยุคกลาง



อาคารสำนักงานไปรษณีย์แห่งนี้สร้างขึ้นระหว่างปี 1898-1910 เพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพ World Expo ของเมืองเกนท์เมื่อปี 1913 ในเวลาต่อมา ปี 1998 สำนักงานไปรษณีย์ได้ขายตึกนี้ให้แก่บริษัทเอกชนซึ่งปรับเปลี่ยนการใช้งานอาคารมาเป็นห้างสรรพสินค้า De Post กับโรงแรม 1898 The Post



สถานีรถไฟที่เมืองเกนท์เดิมเคยเป็นเพียงสถานีเล็ก ๆ แต่เมื่อเกนท์จะเป็นเจ้าภาพ World Expo 1913 จึงมีการสร้างสถานีขนาดใหญ่ขึ้น โดยสถานี Gent-Sint-Pieters แห่งนี้สร้างเสร็จเมื่อปี 1912 ทันเวลาสำหรับการใช้งานอย่างพอดิบพอพอดี จากนั้นมาสถานีรถไฟเกนท์ได้กลายมาเป็นหนึ่งในสถานีหลักของเบลเยียมโดยปัจจุบันมีผู้ใช้งานมากที่สุดเป็นอันดับสี่ของประเทศ


ขอแถมเกร็ดข้อมูลเพิ่มเติม - ช็อกโกแลต Leonidas ซึ่งเป็นหนึ่งในสามยี่ห้อใหญ่ของเบลเยียมถือกำเนิดขึ้นจากการที่ชาวกรีกนามว่า Leonidas Kestekides มาออกร้านใน World Expo 1913 และได้รับรางวัล จากนั้นจึงตัดสินใจตั้งร้านขึ้นที่เมืองเกนท์






รูปภาพ: บรรยากาศยามค่ำช่วงเทศกาลคริสมาสต์ (1) วิวตึกระฟ้าจากสะพาน St. Michael (2) หอระฆังแห่งโบส์ถ St. Nicholas (3) หอระฆังแห่งเมืองเกนท์ (4) อาคารสำนักงานไปรษณีย์เก่า และ (5) ริมฝั่งแม่น้ำ Leie



แหล่งข้อมูลอ้างอิง

65 views0 comments

Comentarios


bottom of page