เมื่อก่อนตอนทำงานอยู่ที่กรุงเม็กซิโก (Mexico City) ไฮไลท์ประจำสัปดาห์ของผมคือการขี่จักรยานรอบเมืองในวันอาทิตย์ วันที่ถนนเส้นหลักถูกปิดให้เป็นของจักรยานและคนเดินเท้า เป็นโอกาสให้เราได้ตะลอนไปเรื่อย ๆ บนยานพาหนะสองล้อและทำความรู้จักกับเมืองนี้มากขึ้น ตั้งแต่พื้นที่ป่าและสวนจนถึงสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ และสถานศักดิ์สิทธิ
ทุกวันอาทิตย์ตั้งแต่เช้ามืดจนถึงบ่ายสองโมง ถนน Reforma (เร-ฟอร์-มา) ซึ่งเปรียบเสมือนถนนราชดำเนินของกรุงเทพฯ จะถูกปิดเป็นถนนสำหรับจักรยานและคนเดิน เต็มไปด้วยนักปั่น นักวิ่ง นักสเก็ต ครอบครัวและสุนัขทุกขนาดที่คนพาออกมาเดินเล่น เส้นทางจักรยานนี้เริ่มที่ป่า Chapultepec (ชา-ปูล-เต-เป็ค) ทางฟากตะวันตกของเมือง และมุ่งสู่ตะวันออกเข้าไปยังใจกลางเมือง
เริ่มต้นที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะ Soumaya
เส้นทางประจำของผมเมื่อออกจากบ้านเพื่อมุ่งเข้าถนนเรฟอร์มาจะต้องผ่านพิพิธภัณฑ์ Soumaya (ซู-มา-ยา) นี่จึงเป็นหมุดหมายแรกบนเส้นทางจักรยานนี้
ซูมายาเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่สร้างโดยการ์ลอส ซลิม (Carlos Slim) มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของเม็กซิโก สถาปัตยกรรมอันสะดุดตากับคอลเลกชั่นศิลปะจากทั่วโลกที่นำมาจัดแสดงให้ชมฟรีทำให้ซูมายาเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีคนเข้าเยี่ยมชมมากที่สุดแห่งหนึ่งของเม็กซิโก
พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งนี้สร้างเสร็จและเปิดให้บริการเมื่อปี ค.ศ. 2011 โดยตั้งชื่อตาม Soumaya Domit ภริยาของ Carlos Slim ที่เสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1999
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Carlos Slim ตั้งชื่อสถานที่ตามชื่อภริยาที่รักของเขา โดยบริษัทของเขาเองที่ชื่อว่า Carso เป็นการนำพยางค์แรกของชื่อ Carlos กับ Soumaya มารวมกันเป็น Car-So และทำเลที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ Soumaya ก็อยู่ในพื้นที่สำนักงาน พิพิธภัณฑ์ และห้างร้านที่ชื่อว่า Plaza Carso
เข้าสู่ป่าชาปูลเตเป็ค
จากพิพิธภัณฑ์ซูมายา เรามุ่งสู่ถนนเรฟอร์มาเพื่อเข้าโซนที่ปิดถนนสำหรับจักรยาน จุดที่เริ่มปิดถนนคือบริเวณป่าชาปูลเตเป็ค เหตุที่เรียกว่า "ป่า" (ไม่ใช่ "สวน") เพราะว่าพื้นที่สีเขียวนี้ไม่ใช่สวนที่ทางเมืองสร้างขึ้น แต่เป็นป่าที่อยู่มาแต่เดิมซึ่งทางเมืองได้อนุรักษ์ไว้ตลอดช่วงเวลาหลายร้อยปีที่พัฒนากรุงเม็กซิโก
ชื่อ "ชาปูลเตเป็ค" เป็นคำในภาษานาวาตล์ (Nahuatl) ของชาวอาซเทค แปลว่า "ภูเขาตั๊กแตน" สำหรับใครที่เรียนภาษาสเปนในเม็กซิโกจะพอทราบกันว่าแม้คนเม็กซิกันจะพูดภาษาสเปน แต่ก็มีศัพท์หลายคำที่ยืมมาจากภาษาท้องถิ่นแทนที่จะใช้ตามภาษาสเปนของยุโรป เช่นคำว่า "ตั๊กแตน" ซึ่งในเม็กซิโกเรียกตามภาษานาวาตล์หรือภาษาอาซเทค ว่า chapulin (ชา-ปู-ลิน)
ในพื้นที่ป่าชาปูลเตเป็คมีสถานที่น่าสนใจหลายแห่ง แต่จะขอกล่าวถึงสองสถานที่สำคัญที่สุด นั่นคือ พิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยาแห่งชาติ และปราสาทชาปูลเตเป็ค
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
หากฟังดูจากชื่อก็คงพอเดากันได้ว่า พิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยาแห่งชาติ (Museo Nacional de Antropologia) คือพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติของเม็กซิโกนั่นเอง
นี่คือพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดและมีผู้เข้าชมมากที่สุดในเม็กซิโก โดยเป็นสถานที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุสำคัญจากทุกภูมิภาคของประเทศที่บอกเล่าเรื่องราวของเหล่าอารยธรรมโบราณที่เคยรุ่งเรืองในเม็กซิโกตลอดหลายพันปีที่ผ่านมา
เม็กซิโกในยุคโบราณมีหลายอารยธรรมที่เกิดขึ้น รุ่งเรือง และล่มสลายไปตามกาลเวลา คนส่วนใหญ่มักคุ้นกับชื่ออาซเทค (Aztec) กับมายา (Maya) เนื่องจากเป็นสองอารยธรรมทรงอิทธิพลในยุคสมัยที่สเปนเข้ามาบุกเบิกอาณานิคมในเม็กซิโก
เมื่อพูดถึงอารยธรรมเม็กซิกันโบราณหลายคนมักนึกถึงปฏิทินอาซเทคซึ่งจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้
แผ่นหินแกะสลักนี้มีขนาดใหญ่ทีเดียว มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 360 ซม. ความหนา 122 ซม. และหนักถึง 24 ตัน นักมานุษยวิทยาประมาณการว่าปฏิทินหินนี้สร้างขึ้นระหว่างศตวรรษที่ 13-16 แต่ว่าชาวสเปนเพิ่งมาพบเข้าเมื่อปี ค.ศ. 1790 เนื่องจากปฏิทินดังกล่าวถูกฝังอยู่ใต้ดินมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นช่วงที่สเปนเข้ามาสร้างเมืองใหม่ทับสิ่งปลูกสร้างเดิมของชาวอาซเทค
ภายในพิพิธภัณฑ์นี้มีศิลปะและโบราณวัตถุจำนวนมาก สามารถยืนดูได้ทั้งวัน จึงไม่อาจพูดถึงทั้งหมดได้และขอเลือกนำภาพมาเล่าให้ฟังอีกสองชิ้น ชิ้นแรกได้แก่ Coatlicue หนึ่งในเทพเจ้าที่ทรงอิทธิพลที่สุดของชาวอาซเทค เป็นมารดาแห่งเหล่าเทพทั้งหลายซึ่งรวมถึงเทพเจ้าแห่งสุริยัน และเป็นผู้สร้างพระจันท์กับดวงดาวด้วย เทพเจ้าองค์นี้มีศรีษะเป็นงูสองตัวและห้อยสร้อยที่ร้อยด้วยหัวใจ มือ และกระโหลกของมนุษย์
อีกชิ้นที่อยากเล่าถึงคือ Chacmool รูปแกะสลักหินที่ใช้ในพิธีสังเวยมนุษย์ โดยหัวใจของผู้ที่ถูกสังเวยจะถูกนำมาวางไว้บนถาดที่รูปปั้นถืออยู่
ปราสาทแห่งเดียวบนทวีปอเมริกา
ในป่าชาปูลเตเปคนอกจากจะมีพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยาแห่งชาติแล้ว ยังมีพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เม็กซิโกด้วย โดยตั้งอยู่ในปราสาทชาปูลเตเป็ค (Castillo de Chapultepec) ปราสาทนี้สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 19 เพื่อเป็นคฤหาสน์ของจักรพรรดิ Maximilian แห่งราชวงศ์ฮับส์บูรก์ (Habsburg) ที่ปกครองเม็กซิโกระหว่างปี ค.ศ. 1864-1867 และเป็นปราสาทแห่งเดียวบนทวีปอเมริกา
หลังจากที่จักรวรรดิฝรั่งเศสเข้าตีและยึดเม็กซิโกสำเร็จเมื่อปี ค.ศ. 1863 นโปเลียนได้ส่ง Maximilian น้องชายของจักรพรรดิ Franz Joseph ที่ 1 แห่งออสเตรีย มาปกครองเมืองขึ้นแห่งนี้ แต่โชคไม่สู้ดีนัก ฝรั่งเศสถูกสหรัฐอเมริกาบีบให้ถอนตัวในเวลาเพียงไม่กี่ปีต่อมา และทอดทิ้งให้จักพรรดิ Maximilian ถูกจับกุมและประหารชีวิตในปี ค.ศ. 1867 ด้วยวัยเพียง 34 ปี
จากนั้นมา ปราสาทแห่งนี้ได้ตกเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลเม็กซิโกและใช้เป็นทำเนียบประธานาธิบดีจนกระทั่งปี ค.ศ. 1939 ซึ่งถูกเปลี่ยนมาเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เม็กซิโก
ปราสาทชาปูลเตเป็คตั้งอยู่บนยอดเขาซึ่งเป็นจุดสูงสุดของป่าชาปูลเตเป็ค โดยสร้างขึ้นบนทำเลนี้เพื่อให้สามารถมองเห็นถนนเรฟอร์มาที่มุ่งเข้าสู่ใจกลางเมือง อันเป็นเส้นทางประจำของจักรพรรดิ Maximilian ในการไปทำงาน
เสา 6 แท่งที่เห็นในภาพ (ดูรูปภาพด้านบน) คืออนุสาวรีย์ตรงทางเข้าปราสาทที่รำลึกถึงยุวชนทหาร 6 นายที่ยืนหยัดต่อสู้อย่างไม่ถอยและยอมพลีชีพเมื่อครั้งที่กองทัพสหรัฐอเมริการุกคืบมาจนถึงปราสาทชาปูลเตเป็คเมื่อปี ค.ศ. 1847 (สงครามครั้งนั้นจบลงด้วยการที่เม็กซิโกสูญเสียดินแดนขนาดใหญ่อย่างรัฐแคลิฟอร์เนีย นิวเม็กซิโก และแอริโซนา ให้กับสหรัฐอเมริกา)
รูปภาพ: จากถนนเรฟอร์มามองย้อนกลับไปที่ป่า เราจะเห็นปราสาทชาปูลเตเป็คอยู่บนยอดเข้า
อนุสรณ์แห่งการปฏิวัติบนถนนเรฟอร์มา
เมื่อพ้นจากบริเวณป่าชาปูลเตเป็คออกมาก็จะเป็นย่านธุรกิจ โดยสองฝั่งถนนเต็มไปด้วยอาคารสำนักงานและห้างร้าน แต่ละสี่แยกมีวงเวียนและอนุสาวรีย์อยู่ตรงกลาง ซึ่งที่สำคัญและโดดเด่นที่สุดคืออนุสาวรีย์นางฟ้าแห่งเอกราช หรือ Ángel de la Independencia
อนุสาวรีย์นี้สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1910 ในโอกาสครบรอบ 100 ปีแห่งการต่อสู้เพื่อเอกราชเม็กซิโก (สงครามเพื่อเอกราชเกิดขึ้นระหว่าง 1810-1821) โดยอัฐิของผู้นำการต่อสู้ทั้ง 4 คน ได้แก่ Miguel Hidalgo y Costilla, Ignacio Allende, José María Morelos, Vicente Guerrero ถูกเก็บรวมอยู่ที่บ้านหลังสุดท้ายแห่งนี้
ที่ฐานของเสาแต่ละฝั่งมีรูปปั้นหินสีขาวของวีรบุรุษทั้ง 4 ยืนอยู่ฝั่งละคน (ไม่นับรวมรูปปั้นสตรีที่นั่งอยู่) บนยอดเสาคือรูปปั้นทองคำของนางฟ้า Nike เทพธิดาแห่งชัยชนะในนิยายกรีกโบราณ (เครื่องกีฬายี่ห้อ Nike ตั้งชื่อตามเทพธิดาองค์เดียวกันนี้ และโลโก้ยี่ห้อ Nike เป็นรูปปีกของเทพธิดาฯ) โดยมือขวาถือพวงมาลัยอันเป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะ มือซ้ายถือโซ่ตรวนที่แตกขาดอันเป็นสัญลักษณ์ของอิสระภาพ
ในเม็กซิโกเคยมีการปฏิวัติสำคัญสองครั้ง ครั้งแรกเป็นการต่อสู้เพื่อเอกราชจากยุโรป ส่วนครั้งที่สองเป็นการต่อสู้กับความอยุติธรรมภายในประเทศที่หลงเหลืออยู่หลังได้รับเอกราชแล้ว ดังนั้น นอกจากอนุสาวรีย์นางฟ้าแล้วจึงมีอีกอนุสาวรีย์เพื่อระลึกถึงการปฏิวัติรอบหลังนี้ด้วย
อนุสาวรีย์แห่งการปฏิวัติ หรือ Monumento a la Revolución คือจุดต่อไปที่เราขี่จักรยานผ่านเป็นประจำ อันที่จริงอนุสาวรีย์นี้ไม่ได้อยู่บนถนนเรฟอร์มาเสียทีเดียวแต่อยู่บนถนนที่แยกออกมาหน่อยซึ่งเราสามารถมองเห็นจากถนนเรฟอร์มาได้
อนุสาวรีย์นี้ตามแผนเดิมสร้างขึ้นเพื่อเป็นอาคารรัฐสภา เริ่มก่อสร้างเมื่อปี ค.ศ. 1910 พร้อมกับอนุสาวรีย์นางฟ้า และสร้างขึ้นในโอกาสครบรอบ 100 ปีแห่งการต่อสู้เพื่อเอกราชเช่นเดียวกับอนุสาวรีย์นางฟ้า แต่ในปีเดียวกันนั้นได้เกิดการปฏิวัติขึ้นในเม็กซิโกซึ่งทำให้การก่อสร้างต้องหยุดชะงักหลังจากเพิ่งขึ้นโครงโดมส่วนกลางอย่างที่เห็นในรูปภาพ
การปฏิวัติเม็กซิโกมีขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1910-1920 โดยมีเหตุมาจากความไม่พอใจของประชาชนต่อการปกครองที่ยาวนาน 31 ปีของประธานาธิบดี Porfirio Diaz (ปอร์-ฟิ-ริ-โอ-ดิ-แอซ) รวมถึงความอยุติธรรมและช่องว่างระหว่างชนชั้นที่ไม่ได้รับการแก้ไข
อนุสาวรีย์นี้เป็นเหมือนตลกร้ายสำหรับอดีตประธานาธิบดี Porfirio Diaz ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มการก่อสร้างอาคารดังกล่าวและต่อมาได้พ้นตำแหน่งจากการปฏิวัติ จากนั้นอาคารที่เขาสร้างไม่เสร็จนี้ได้กลายมาเป็นอนุสาวรีย์ของการปฏิวัติที่ล้มล้างการปกครองของเขาเอง โดยอัฐิของสี่วีรบุรุษแห่งการปฏิวัติครั้ง ได้แก่ Venustiano Carranza, Francisco I. Madero, Plutarco Elías Calles และ Pancho Villa ได้ถูกนำมาฝังไว้ ณ เสาสี่ต้นของอนุสาวรีย์แห่งนี้ด้วย
ถนนฆัวเรสกับยุคปอร์ฟีเรียโต
จากอนุสาวรีย์แห่งการปฏิวัติ เราสามารถเลือกที่จะขี่จักรยานต่อไปบนถนนเรฟอร์มาเพื่อไปยังโบสถ์พระแม่กวาดาลูเป หรือ เลี้ยวขวาไปบนถนนฆัวเรส (Avenida Juarez) เพื่อมุ่งเข้าสู่ใจกลางเมืองเก่า ซึ่งช่วงแรก ๆ ที่เพิ่งไปอยู่เม็กซิโกผมมักจะเลือกเส้นทางหลัง
เมื่อเริ่มเข้าสู่ถนนฆัวเรสเราจะพบกับสวนสาธารณะอาลาเมดา (Alameda Central) ซึ่งเป็นสวนสาธารณะที่เก่าแก่ที่สุดในซีกโลกอเมริกา สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1592
ทางฝั่งตะวันออกของสวนนี้มีพิพิธภัณฑ์ภาพวาดบนกำแพงของศิลปินแห่งชาติ เดียโก ริเบรา (Mural de Diego Rivera) ภาพที่ว่านี้ คือ Sueño de una Tarde Dominical en la Alameda Central หรือ "ฝันถึงบ่ายวันอาทิตย์ในสวนอาลาเมดา" ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานศิลปะโมเดิร์นที่มีชื่อเสียงที่สุดของเม็กซิโก โดยในภาพมีบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์เม็กซิโกอย่างจักรพรรดิ Maximilian ประธานาธิบดี Porfirio Diaz ประธานาธิบดี Francisco I. Madero (หนึ่งในนักปฏิวัติที่ล้มอำนาจของ Porfirio Diaz) รวมถึงตัวเดียโกและภรรยาของเขาซึ่งก็คือ Frida Kahlo - ทุกคนรวมตัวกันอยู่ ณ สวนอาลาเมดา
ส่วนทางฝั่งตะวันตกของสวนอาลาเมดาคือหอศิลป์-โรงละครแห่งชาติ Palacio de Bellas Artes อาคารแห่งนี้เริ่มก่อสร้างขึ้นในยุคสมัยของประธานาธิบดี Porfirio Diaz ซึ่งปกครองเม็กซิโกเป็นเวลาสามสิบปีตั้งแต้ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 คนเม็กซิกันมักเรียกช่วงเวลานั้นว่ายุค Porfiriato (ปอร์-ฟี-เรีย-โต)
การก่อสร้างหอศิลป์-โรงละครนี้เริ่มเมื่อปี ค.ศ. 1904 โดยมีเป้าหมายสร้างให้เสร็จทันปี 1910 ตรงกับโอกาสครบรอบ 100 ปีการต่อสู้เพื่อเอกราช แต่กว่าจะเสร็จจริงคือปี 1934 เนื่องปัญหาการเมืองและความวุ่นวายในประเทศทำให้การก่อสร้างหยุดชะงักไปหลายปี
เราจะเห็นได้ว่าประธานาธิบดี Porfirio Diaz มีแผนการก่อสร้างมากมายเพื่อเฉลิมฉลอง 100 ปีแห่งการต่อสู้เพื่อเอกราช ไม่ว่าจะเป็นอนุสาวรีย์นางฟ้า อาคารรัฐสภาใหม่ หรือหอศิลป์ ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 1910 กลับเป็นการปฏิวัติที่นำมาสู่จุดจบของยุคสมัยปอร์ฟีเรียโต
เมื่อข้ามถนนมาจากหอศิลป์-โรงละครแห่งชาติ เราจะพบกับอาคารที่มีชื่อเสียงจากศตวรรษที่ 18 คือ Casa de los Azulejos หรือ "บ้านกระเบื้องน้ำเงิน" ซึ่งมีเอกลักษณ์ตรงที่ภายนอกอาคารทั้งหลังประดับด้วยกระเบื้องลายสีน้ำเงิน บ้านหลังนี้เคยเป็นของขุนนางสเปนและเป็นมรดกตกทอดรุ่นต่อรุ่นมาจนกระทั่งร้านอาหาร Sanborns ได้มาซื้ออาคาร และต่อมาบริษัท Carso (ของ Carlos Slim ผู้สร้างพิพิธภัณฑ์ Soumaya ที่กล่าวถึงในต้นบทความ) ได้ซื้อกิจการ Sanborns และเป็นเจ้าของตึกมาจนถึงปัจจุบัน
ถัดจากบ้านกระเบื้องน้ำเงินมาอีกหนึ่งบล็อกเราจะพบอาคารไปรษณีย์ Quinta Casa de Correos หรือ "บ้านหลังที่ห้าของสำนักงานไปรษณีย์" แต่คนส่วนใหญ่เรียกกันติดปากว่า Palacio Postal "วังไปรษณีย์" ซึ่งเมื่อเข้าไปดูสถาปัตยกรรมภายในแล้วก็เข้าใจได้ว่าเหตุใดคนท้องถิ่นถึงเรียกเช่นนั้น
อาคารนี้สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1907 ในยุคปอร์ฟีเรียโต แต่ไม่ได้สร้างขึ้นตามคำสั่งของประธานาธิบดี Porfirio Diaz หรือรัฐบาลเนื่องจากไปรษณีย์เม็กซิโกได้แยกกิจการเป็นเอกเทศจากรัฐบาลมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1901 อย่างไรก็ดี ดีไซน์ของอาคารยังคงเป็นไปตามความนิยมของยุคสมัยนั้น คือ หรูหราแบบยุโรป
จากวังไปรษณีย์ เราปั่นจักรยานต่อไปบนถนน Tacuba เพื่อเข้าสู่จัตุรัสใจกลางเมือง หากใครที่เคยดูภาพยนตร์เจมส์บอนด์ 007 Spectre ก็คงจำได้ถึงฉากเปิดเรื่องที่เจมส์บอนด์เดินอยู่บนถนนในเม็กซิโกท่ามกลางพาเหรดวันผู้วายชนม์ ถนนเส้นนั้นคือ Tacuba
จัตุรัสกลางเมือง El Zócalo
เราวิ่งตามถนน Tacuba มาเรื่อย ๆ จนมาถึงใจกลางเมืองเก่าของกรุงเม็กซิโก นั่นคือ El Zócalo เมื่อพูดถึงจัตุรัสนี้แล้วก็ขอย้อนกลับไปที่ภาพยนตร์เจมส์บอนด์อีกครั้งเพราะนี่คือจัตุรัสที่เราเห็นเจมส์บอนด์กระโดดขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปสู้กับผู้ร้าย
จัตุรัสนี้วางผังตามแบบนิยมของสเปน คือ มีลานกว้างตรงกลางซึ่งล้อมรอบด้วยโบสถ์และสถานที่ราชการ
โดยทางฝั่งเหนือของจัตุรัสคือ Catedral Metropolitana โบสถ์ที่ใหญ่ที่สุดในซีกโลกอเมริกาซึ่งใช้เวลาสร้างกว่าสองร้อยปี (ศตวรรษที่ 16-18)
ทางฝั่งตะวันออกของจัตุรัสคือ Palacio Nacional ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของหลายหน่วยงานราชการ รวมถึงเคยเป็นทำเนียบประธานาธิบดี แต่ต่อมาที่ทำงานของประธานาธิบดีได้ย้ายไปอยู่ข้างป่าชาปูลเตเป็ค และทำเนียบนี้ถูกปรับการใช้งานมาเป็นแบบผสม มีบางส่วนเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เปิดให้คนทั่วไปเข้าเยี่ยมชมและบางส่วนที่ยังเป็นสถานที่ราชการอยู่
เวลาที่เอกอัครราชทูตไทย (หรือเอกอัครราชทูตประเทศใดก็ตาม) เดินทางมารับตำแหน่งในเม็กซิโกก็จะต้องเข้ายื่นพระราชสาส์นตราตั้งต่อประธานาธิบดีที่ Palacio Nacional
ภายใน Palacio Nacional มีภาพวาดบนกำแพงโดยศิลปินแห่งชาติ Diego Rivera ซึ่งบอกเล่าประวัติศาสตร์ของเม็กซิโกตั้งแต่ยุคอารยธรรมโบราณมาจนถึงการเข้ายึดครองโดยสเปน การต่อสู้เพื่อเอกราช และการปฏิวัติในยุคปอร์ฟีเรียโต
ตรงพื้นที่ระหว่าง Catedral Metropolitana กับ Palacio Nacional เราจะพบซากโบราณสถานแห่งหนึ่ง ชื่อว่า Templo Mayor ซึ่งเคยเป็นศาสนสถานของชาวอาซเทค
ซากของ Templo Mayor มีหลงเหลือให้เห็นอยู่น้อยมากเนื่องจากในยุคอาณานิคม สเปนสร้างอาคารขึ้นใหม่ด้วยการถอดรื้อหินจากอาคารของชาวอาซเทคมาใช้ในการก่อสร้าง รวมถึงสร้างอาคารใหม่กลบทับของเก่า นี่คือวิธีการแสดงออกถึงการปกครองของสเปนเหนือชนพื้นเมือง
แม้ว่าโบราณสถานของชาวอาซเทคจะแทบไม่มีเหลือให้เห็นแล้ว แต่ในพื้นที่รอบ El Zócalo เราจะได้เห็นการเต้นรำและพิธีปัดเป่าความโชคร้ายของชนพื้นเมืองเป็นประจำทุกวัน เหมือนเป็นเครื่องเตือนความทรงจำอย่างหนึ่งว่าครั้งหนึ่งพวกเขาเคยอยู่ที่นี่
(อ่านเรื่องการเข้ายึดเม็กซิโกและสร้างอาณานิคมของชาวสเปน)
ทางฝั่งตะวันตกของจัตุรัสเป็นกลุ่มอาคารพาณิชย์ซึ่งในกลุ่มนี้มีโรงแรมเก่าอยู่สองแห่ง หนึ่งในนั้นคือ Gran Hotel Ciudad de México ซึ่งเป็นอีกสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง 007 Spectre (ฉากที่เจมส์บอนด์เดินเข้าโรงแรมแล้วขึ้นลิฟท์ไปยังห้องพัก เปลี่ยนเสื้อผ้า และปีนออกช่องหน้าต่างเพื่อไปบู๊) โรงแรมนี้สร้างขึ้นในยุคปอร์ฟีเรียโตซึ่งเป็นยุคที่ชนชั้นสูงของเม็กซิโกนิยมวิถีชีวิตแบบยุโรป รวมถึงนิยมสถาปัตยกรรมยุโรปซึ่งในช่วงนั้นอาร์ตนูโวกำลังเป็นที่นิยม
สำหรับใครที่เคยดูภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่อง Coco ของค่าย Pixar ก็อาจรู้สึกว่าโรงแรม Gran Hotel และวังไปรษณีย์ที่กล่าวถึงไปก่อนหน้านี้ดูแล้วคุ้น ๆ นั่นก็เพราะทั้งสองสถานที่นี้ถูกใช้เป็นต้นแบบในการวาดฉากในภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องดังกล่าว
Best Western Hotel Majestic เป็นอีกหนึ่งโรงแรมเก่าแก่ซึ่งเดิมชื่อ Hotel Majestic แต่ต่อมาเครือ Best Western ได้เข้าซื้อกิจการ
ทางฝั่งใต้ของจัตุรัสคือศาลาว่าการกรุงเม็กซิโกและกลุ่มอาคารพาณิชย์ซึ่งรวมถึงห้างสรรพสินค้า Liverpool และ Palacio de Hierro สองเครือคู่แข่ง (เหมือนเดอะมอลล์กับเซ้นทรัลที่ไทย) ที่ต่างได้เปิดสาขาแรกขึ้นที่นี่เมื่อต้นศตวรรษที่ 20
รูปภาพ: จัตุรัส El Zócalo ในฤดูหนาวยามค่ำ (วิวจากโรงแรม Gran Hotel Ciudad de México)
สถานศักดิ์สิทธิ์แห่งทวีปอเมริกา
ในช่วงที่ผมยังไม่ได้ซื้อจักรยานและอาศัยบริการ bike-share ของเมืองเม็กซิโกซิตี้ เส้นทางจักรยานของผมจะมุ่งเข้าสู่ใจกลางเมืองเก่าตลอด ซึ่งนั่นเป็นเพราะบริการ bike-share จำกัดเวลาครั้งละ 45 นาที โดยเมื่อครบกำหนดเวลาแล้วสามารถต่อเพิ่มอีกครั้งละ 45 นาทีได้ที่สถานีที่ใกล้ที่สุด (หากไม่ต่อเวลาที่สถานีจะต้องเสียค่าปรับ) ซึ่งเส้นทางที่วิ่งเข้าใจกลางเมืองมีสถานีอยู่ตลอดทาง จึงเป็นเส้นที่สะดวกสำหรับคนที่ใช้ bike-share
แต่เมื่อมีจักรยานเป็นของตนเองแล้วเราก็มีทางเลือกมากขึ้น จึงเริ่มไปไกลขึ้นและออกนอกตัวเมืองได้ซึ่งอีกที่หมายที่ผมชอบไปคือโบสถ์พระแม่กวาดาลูเป
โบสถ์พระแม่กวาดาลูเป (Basílica de Nuestra Señora de Guadalupe) หรือ วิลล่าพระแม่กวาดาลูเป (La Villa de Guadalupe) เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของประเทศเม็กซิโก และเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวคาทอลิกในซีกโลกอเมริกา ซึ่งทุกปีจะมีผู้แสวงบุญเดินทางมาจากหลากหลายประเทศทั้งจากอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ โดยเฉพาะช่วงวันที่ 12 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันพระแม่กวาดาลูเป
วิลล่าพระแม่กวาดาลูเปเป็นสถานศักดิ์สิทธิที่มีผู้คนเดินทางมามากที่สุดเป็นอันดับสามของโลก รองจากศาลเจ้าเมจิที่โตเกียว (ญี่ปุ่น) และวัดกาสีวิศวนาถที่พาราณสี (อินเดีย)
โบสถ์เก่าที่อยู่ทางฝั่งขวาของรูปภาพสร้างขึ้นระหว่างศตวรรษที่ 16-18 ส่วนโบสถ์ใหม่ที่อยู่ตรงกลางรูปภาพสร้างขึ้นในยุค 1970 โดยโบสถ์ใหม่นี้เป็นสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์นที่ออกแบบมาเพื่อให้สามารถจุคนได้ถึง 50,000 คน
วิลล่าพระแม่กวาดาลูเปถูกสร้างขึ้นเนื่องจากเคยมีการปรากฏตัวของพระแม่มารี (ซึ่งชาวเม็กซิกันเรียกอีกชื่อว่าพระแม่กวาดาลูเป) ที่นี่ถึงห้าครั้งเมื่อเดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 1531 โดยสี่ครั้งเป็นการปรากฏต่อชาวนาชื่อว่า Juan Diego และอีกหนึ่งครั้งต่อ Juan Bernadino ซึ่งเป็นลุงของ Juan Diego
ในการปรากฏตัวสามครั้งแรก พระแม่มารีได้บอกกับ Juan Diego ว่าให้สร้างโบสถ์ขึ้นที่นี่ ซึ่งเขาได้พยายามพูดกับอาร์คบิชอปแล้วแต่ไม่สำเร็จ โดยอาร์คบิชอปบอกว่าต้องการเห็นหลักฐานที่แสดงถึงปาฏิหารย์ของพระแม่ ดังนั้น ในครั้งที่สามที่พระแม่มาปรากฏ Juan Diego จึงอธิบายประเด็นนี้และพระแม่ได้บอกว่าจะแสดงปาฏิหารย์ในครั้งหน้า (ครั้งที่สี่) ที่มาปรากฏ
ในวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1531 ซึ่งเป็นการปรากฏตัวครั้งที่สี่ พระแม่บอกให้ Juan Diego เก็บดอกไม้ห่อไว้ในเสื้อคลุมของเขาและนำไปเปิดให้อาร์คบิชอปดู ซึ่งเมื่อเขาไปหาอาร์คบิชอปและกางผ้าออกมา ดอกไม้ก็หล่นออกและบนผ้าผืนนั้นปรากฏเป็นภาพของพระแม่มารีขึ้นมา ด้วยเหตุนี้ อาร์คบิชอปจึงเชื่อว่าพระแม่ได้ปรากฏตัวขึ้นที่เมืองนี้จริง และได้สร้างโบสถ์พระแม่กวาดาลูเปขึ้นโดยประดับผ้าผืนที่มีภาพพระแม่ไว้บนผนัง ต่อมาเมื่อมีการสร้างโบสถ์ใหม่ในช่วงทศวรรษ 1970 จึงได้ย้ายผ้าผืนดังกล่าวมาไว้ที่นี่
วันอาทิตย์นอกจากเป็นวันที่กรุงเม็กซิโกปิดถนนสำหรับจักรยานและคนเดินแล้ว ยังเป็นวันเข้าโบสถ์ของชาวคาทอลิกด้วย จึงเป็นจังหวะดีสำหรับการขี่จักรยานไปยังวัดคู่บ้านคู่เมืองแห่งนี้เพราะเราได้ไปดูพิธี ร่วมฟังพระสวด และได้รู้จักกับวัฒนธรรม-ศาสนาของผู้คนในเมืองที่เรามาอาศัยอยู่ด้วย
เสร็จจากนั้นก็ได้เวลาขี่จักรยานกลับบ้าน ขากลับนี่มักจะเหนื่อยกว่าขามาหน่อย คงเป็นเพราะเราออกจากบ้านมาตั้งแต่เช้า ซึ่งตอนที่ออกมายังแรงดีและสดชื่นอยู่แต่พอผ่านไปหลายชั่วโมงก็เริ่มหิวข้าวและอ่อนแรงไปบ้าง เราเดินไปที่จักรยานสีแดง ปลดล็อคโซ่และขี่ไปเรื่อย ๆ โดยคอยระวังรถยนตร์ที่ออกมาวิ่งกันในยามบ่ายเมื่อถนนเปิดการจราจรตามปกติแล้ว
Opmerkingen