top of page
Writer's pictureพงศ์สิน เทพเรืองชัย

เมืองมรดกโลก บนเส้นทางสู่เอกราชเม็กซิโก

เม็กซิโก - ดินแดนที่อยู่ซีกโลกตรงข้ามจากไทยพอดิบพอดี คงไม่มีที่ไหนที่จะไกลจากประเทศไทยไปได้มากกว่านี้อีกแล้ว และแม้ว่าประเทศนี้จะอยู่ติดกับสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนไทยโพ้นทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ในทางตรงกันข้าม เม็กซิโกมีคนไทยอยู่เพียงหนึ่งร้อยกว่าคน นักท่องเที่ยวไทยก็ไม่ค่อยจะเดินทางไปกัน (เว้นแต่คนไทยในสหรัฐฯ ที่ข้ามฝั่งมาช่วงพักร้อน) แต่เชื่อหรือไม่ว่า ประเทศที่ดูเหมือนจะห่างไกลและลึกลับนี้ กลับเป็นที่หมายที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางไปมากที่สุดเป็นอันดับ 7 ของโลก และยังเป็นที่ตั้งของแหล่งมรดกโลกที่ขึ้นทะเบียนกับ UNESCO มากที่สุดเป็นอันดับ 7 ของโลกด้วย (35 แห่ง ณ ปี ค.ศ. 2019)



ภายใต้ความสวยงามของสถานที่ทั้งหลายที่เราไปกันนั้น ก็มักจะมีเรื่องราวของปัญหาและความวุ่นวายในอดีตที่ผู้คนต้องอดทนต่อสู้กันมา กว่าจะได้มาเป็นประเทศแบบที่เราเห็นกันทุกวันนี้ เมืองมรดกโลกในเม็กซิโกบอกเล่าอะไรบ้างเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อปลดแอกจากการเป็นอาณานิคมสเปนและการสร้างสาธารณรัฐแห่งใหม่? เรามาดูประวัติศาสตร์ฉบับย่อเรื่องนี้กัน ...



Querétaro: จุดเริ่มต้นของการปฏิวัติ


การปฏิวัติเริ่มขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ที่เมือง Querétaro (เก-เระ-ตา-โร่) หลังจากที่เม็กซิโกอยู่ภายใต้การปกครองของสเปนมาเป็นเวลา 3 ศตวรรษ การเคลื่อนไหวนี้เกิดจากความอัดอั้นใจที่มีต่อระบบชนชั้นของสเปนที่จัดสรรอำนาจและผลประโยชน์ตามเชื้อชาติ ตั้งแต่ชั้นสูงสุด คือ ชาวสเปนที่เกิดในสเปน รองลงมาเป็นชาวสเปนที่เกิดในอาณานิคม ชาวสเปนที่เป็นลูกผสมกับคนพื้นเมือง ลงไปถึงชั้นล่างสุด คือ ชนพื้นเมืองและชาวแอฟริกันที่ถูกนำเข้ามาใช้แรงงาน


รูปภาพ : Centro Histórico เมือง Querétaro ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี ค.ศ. 1996 (ประเทศไทยอยู่ในคณะกรรมการพิจารณาของ UNESCO ในปีนั้นด้วย)


จากวงสนทนา (เรื่องการเมือง) ของสตรีนามว่า Josefa Ortiz de Domínguez ที่ Querétaro ก็ทำให้เกิดแนวคิดว่าต้องต่อสู้กับระบอบการปกครองที่ไม่เป็นธรรมนี้ และเป็นจุดกำเนินแผนการปฏิวัติ นำโดยบาทหลวงนามว่า Miguel Hidalgo y Costilla และนายทหารนามว่า Ignacio Allende


แต่ว่าการต่อสู้นั้นเริ่มขึ้นเร็วกว่าที่ทุกคนตั้งใจไว้ เมื่อแผนปฏิวัติได้รั่วไหลออกไปเสียก่อน ทำให้ Josefa Ortiz ถูกจับกุม และ Miguel Hidalgo ต้องหนีไปตั้งหลักที่เมือง Dolores รัฐ Guanajuato ต่อมาในเช้าวันรุ่งขึ้น คือ วันที่ 16 กันยายน ค.ศ. 1810 Miguel Hidalgo ได้ตะโกนร้องว่า “Viva!” พร้อมลั่นระฆังที่โบสถ์ในเมือง Dolores เพื่อประกาศเริ่มต้นการปฏิวัติอย่างเป็นทางการ


รูปภาพ : อนุสาวรีย์ Josefa Ortiz de Domínguez (หรือที่ชาว Querétaro เรียกกันว่า La Corregidora) ที่จัตุรัสกลางเมือง Querétaro


เหตุการณ์นี้ได้กลายมาเป็นวันชาติของเม็กซิโก โดยในช่วงดึกของคืนวันที่ 15 กันยายน ของทุกปี ชาวเม็กซิกันจะรวมตัวกันตะโกนร้องว่า “Viva Mexico!” (เม็กซิโกจงเจริญ) เคยมีมัคคุเทศก์ชาวเม็กซิกันเล่าให้ผมฟังว่า สาเหตุที่เขาฉลองกันตั้งแต่คืนวันที่ 15 กันยายน แทนที่จะฉลองในวันที่ 16 กันยายนนั้น เป็นเพราะว่า ประธานาธิบดี Porfirio Diaz (รัฐบาลช่วงปี ค.ศ. 1884-1911) ได้เลื่อนการฉลองเร็วขึ้นมาหนึ่งวันเพื่อให้ตรงกับวันคล้ายวันเกิดของตนนั่นเอง


Querétaro นอกจากจะเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามอันนำไปสู่เอกราชของเม็กซิโกแล้ว ยังเป็นสถานที่บันทึกเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการประหารชีวิตจักรพรรดิ Maximiliano อันเป็นจุดสิ้นสุดของจักรวรรดิยุโรปในเม็กซิโกเมื่อปี ค.ศ. 1867 การจัดทำและประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเมื่อปี ค.ศ. 1917 และการก่อตั้งพรรคการเมืองแรกในประเทศเมื่อปี ค.ศ. 1929


รูปภาพ : โรงละคร Teatro de la República สถานที่ลงนามรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐเม็กซิโกฉบับปัจจุบัน เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1917


หากย้อนกลับไปก่อนหน้าเหตุการณ์การเมืองที่เข้มข้นทั้งหมดนี้ Querétaro เดิมเคยเป็นเมืองนักบวชและที่ตั้งของโรงเรียนผลิตมิชชันนารีสำหรับไปเผยแพร่ศาสนาในสถานที่ห่างไกล เมืองนี้จึงมีโบสถ์จำนวนมาก และอาคารหลายแห่งที่เราเห็นเป็นร้านอาหารหรือโรงแรมในปัจจุบัน เมื่อครั้งอดีตก็เคยเป็นอาคารทางศาสนาเช่นกัน


รูปภาพ : โบสถ์ Templo y Exconvento de la Cruz หนึ่งในหลาย ๆ โรงเรียนสอนศาสนาในอดีต หน้าทางเข้ามีรูปปั้นของชนพื้นเมืองที่หันมานับถือศาสนาคริสต์


ทุกวันนี้ Querétaro ไม่ได้เป็นเมืองนักบวชหรือศูนย์กลางการเมืองเหมือนเมื่อก่อน แต่ได้แปลงสภาพมาเป็นเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญของเม็กซิโก โดยเป็นที่ตั้งสำนักงานของบริษัทข้ามชาติที่มาลงทุนในเม็กซิโก รวมถึงบริษัท Indorama Ventures จากประเทศไทย นอกจากนี้ Querétaro ยังเป็นแหล่งผลิตไวน์และชีสชั้นนำของเม็กซิโก และได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองที่สะอาดที่สุดในประเทศอีกด้วย


รูปภาพ : ณ ถนนคนเดิน เมือง Querétaro



Guanajuato: ชัยชนะครั้งแรกสำหรับกองทัพมือใหม่


หลังจากที่ Miguel Hidalgo หลบหนีการจับกุมที่เมือง Querétaro มายังเมือง Dolores รัฐ Guanajuato และลั่นระฆังประกาศการปฏิวัติในเช้าวันที่ 16 กันยายน ค.ศ. 1810 จุดหมายต่อไปของเขาก็คือเมืองหลวงของรัฐ Guanajuato ซึ่งมีชื่อเดียวกัน นั่นก็คือ เมือง Guanajuato (กวา-นา-ฮวา-โต้)


รูปภาพ : Centro Histórico เมือง Guanajuato ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี ค.ศ. 1988


เมื่อวันที่ 28 กันยายน ค.ศ. 1810 กองกำลังของ Miguel Hidalgo และ Ignacio Allende ร่วมกันบุกยึดคลังเสบียงอาหารสำคัญ คือ Alhóndiga de Granaditas (คลังธัญพืช) แต่ว่าอาคารนี้ถูกป้องกันไว้อย่างหนาแน่น ทำให้ฝ่ายปฏิวัติไม่สามารถเข้าไปข้างในได้ ในที่สุดก็มีคนงานเหมืองแร่ใจกล้านายหนึ่ง นามว่า Juan José de los Reyes Martínez Amaro (หรือที่ชาว Guanajuato เรียกชื่อเล่นว่า El Pípila) ใช้วิธีผูกแผ่นหินขนาดใหญ่ไว้บนหลังของตน เสมือนเป็นกระดองเต่ากันกระสุนปืน แล้วค่อย ๆ คลานเข้าไปประชิดตัวอาคารเพื่อจุดไฟเผาประตูไม้ ทำให้กองกำลังปฏิวัติสามารถเข้ายึดคลังเสบียงอาหารได้สำเร็จ


รูปภาพ : Alhóndiga de Granaditas ก่อสร้างด้วยหินทรายที่มีสีเขียวและสีชมพูซึ่งเป็นวัสดุที่นิยมใช้ในเมือง Guanajuato


ชัยชนะที่ Alhóndiga de Granaditas เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของสงครามที่ลากยาวต่อไปถึง 11 ปี ซึ่งระหว่างทางนั้น ฝ่ายปฏิวัติต้องพบกับความล้มเหลวและความสูญเสียอยู่หลายครั้ง ผู้นำของพวกเขาถูกจับกุมและประหารชีวิต จนต้องสืบทอดเจตนารมณ์ต่อ ๆ กันมา ตั้งแต่ Miguel Hidalgo และ Ignacio Allende (ทั้งสองถูกจับในปี 1811) มายัง José María Morelos (ถูกจับในปี 1815) จนถึง Vicente Guerrero ซึ่งนำพาคณะปฏิวัติไปถึงจุดหมายสำเร็จในปี 1821 โดยฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายปฏิวัติได้ร่วมลงนามข้อตกลงยุติสงครามและประกาศเอกราชจากสเปน


รูปภาพ : El Pípila ยืนเฝ้ามองเมืองของเขาจากบนยอดเขา


ในปัจจุบัน เมือง Guanajuato เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมแห่งหนึ่งของประเทศเม็กซิโก โดยมีเอกลักษณ์คือ บ้านช่องและอาคารสีลูกกวาดที่ปกคลุมไปทั้งหุบเขา มีซอกซอยและช่องบันไดนับไม่ถ้วนสำหรับคนเดินเท้า และโครงข่ายอุโมงค์ลอดใต้เมืองสำหรับรถยนต์ (อุโมงค์เหล่านี้อันที่จริงแล้วเป็นระบบระบายน้ำในอดีตเมื่อครั้งที่ Guanajuato เป็นเมืองเหมืองแร่) นอกจากนี้ เมือง Guanajuato ยังเป็นสถานที่จัดเทศกาลวัฒนธรรมที่ใหญ่ที่สุดในเม็กซิโกและลาตินอเมริกา นั่นก็คือ Festival Internacional Cervantino ซึ่งจัดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนของทุกปี



รูปภาพ : บ้านเมืองเป็นสีลูกกวาด


รูปภาพ : อุโมงค์ลอดใต้เมืองสะท้อนอดีตที่เคยเป็นเหมืองแร่


รูปภาพ : Guanajuato ในยามค่ำคืน ให้บรรยากาศเหมือนได้ย้อนเวลาไปในอดีตอีกครั้ง



Mexico City: จากอาณานิคมสู่สาธารณรัฐ


ในวันครบรอบ 11 ปีหลังจากที่กองทัพปฏิวัติของ Miguel Hidalgo และ Ignacio Allende เข้ายึดคลังเสบียงอาหาร Alhóndiga de Granaditas ที่เมือง Guanajuato ฝ่ายปฏิวัติและฝ่ายรัฐบาลได้ตกลงที่จะยุติสงคราม และลงนามในเอกสารประกาศเอกราช (วันที่ 28 กันยายน 1821) ณ วัง Palacio Nacional กรุงเม็กซิโก อันเป็นจุดเริ่มต้นของจักรวรรดิเม็กซิโกที่เป็นเอกราชจากสเปน


รูปภาพ : Centro Histórico กรุงเม็กซิโก ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี ค.ศ. 1987


แต่ว่าความขัดแย้งในประเทศไม่ได้สิ้นสุดลงด้วยคำว่า “เอกราช” เพราะปัญหาชนชั้นและความเหลื่อมล้ำในสังคมยังคงอยู่ จึงเกิดการต่อสู้ระหว่างกลุ่มอุดมการณ์ต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่การล้มระบอบจักรวรรดิเพื่อเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐในปี 1823 จนถึงสงครามการปฏิรูปในช่วงปี 1857-1861 (ระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ต้องการรวมอำนาจไว้ที่รัฐบาลกลาง กับฝ่ายเสรีนิยมที่ต้องการกระจายอำนาจการปกครองลงไประดับรัฐ)


นอกจากความขัดแย้งภายในประเทศที่ดูเหมือนจะไม่มีที่สิ้นสุดแล้ว เม็กซิโกยังต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากภายนอกอีกด้วย โดยระหว่างปี 1845-1848 ได้สูญเสียดินแดนประมาณครึ่งหนึ่ง จากการผนวกรวมรัฐเท็กซัสโดยสหรัฐอเมริกา และสงครามเม็กซิโก-สหรัฐอเมริกา ที่จบลงด้วยการเสียดินแดนขนาดใหญ่อย่างแคลิฟอร์เนีย แอริโซนา และนิวเม็กซิโกให้กับสหรัฐอเมริกา อีกทั้งยังต้องเผชิญกับการหวนคืนสู่จักรวรรดินิยมยุโรประหว่างปี 1861-1867 (ฝรั่งเศสเข้ายึดเม็กซิโกเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนจะถูกสหรัฐอเมริกาบีบให้ถอนตัวไปในที่สุด)


รูปภาพ : วัง Palacio Nacional เป็นสถานที่ราชการมาตั้งแต่สมัยที่สเปนปกครองมาจนกระทั่งหลังเม็กซิโกได้เอกราช ในการฉลองวันชาติของทุกปี ประธานาธิบดีจะออกมายืนที่ระเบียงในคืนวันที่ 15 กันยายน และตะโกนร้องว่า Viva México!


รูปภาพ : Catedral Metropolitana โบสถ์ที่ใหญ่ที่สุดและเก่าแก่ที่สุดในทวีปอเมริกา สร้างขึ้นบนตำแหน่งที่เดิมเคยเป็นโบสถ์ Templo Mayor ของชาว Aztec



รูปภาพ : อาคารจากยุคอาณานิคมสเปนยังคงใช้งานอยู่ในปัจจุบัน เป็นทั้งร้านค้า ร้านอาหาร รวมถึงสถานที่ราชการ เช่นศาลาว่าการกรุงเม็กซิโกในรูปภาพนี้


ศตวรรษที่ 19 นับเป็นช่วงเวลาที่วุ่นวายสำหรับสังคมที่เปลี่ยนผ่านจากอาณานิคมที่ชื่อว่า “สเปนใหม่” (New Spain) สู่ประเทศเอกราชที่ชื่อว่า “สหรัฐเม็กซิโก” (United Mexican States) ปัจจุบันประเทศเม็กซิโกปกครองโดยระบบสาธารณรัฐ โดยแบ่งเขตปกครองออกเป็น 32 รัฐ มีรัฐบาลกลางอยู่ที่เมืองหลวง คือ กรุงเม็กซิโก (Mexico City) หนึ่งในมหานครที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก


ทุกวันนี้เรายังสามารถเห็นร่องรอยของกรุงเม็กซิโกจากอดีตที่เคยเป็นอาณาจักรอาซเทค สู่อาณานิคมยุโรป ก่อนจะมาเป็นสาธารณรัฐที่ทันสมัย และที่สำคัญ สถานที่ทางประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ได้ถูกบูรณะซ่อมแซมและเปิดให้เข้าเยี่ยมชมได้ในราคาที่ย่อมเยา นอกจากนี้ กรุงเม็กซิโกยังเป็นเมืองที่มีพิพิธภัณฑ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งช่วยรักษารากเง่าและประวัติศาสตร์ของพวกเขาไม่ให้เลือนหายไปกับกาลเวลา


รูปภาพ : ปราสาท Chapultepec คฤหาสน์ของอดีตจักรพรรดิ Maximilian (ที่ฝรั่งเศสส่งมาปกครองเม็กซิโก) ได้กลายมาเป็นพิพิธัณฑ์ประวัติศาสตร์เม็กซิโกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1940



บ้านเกิดของวีรบุรุษ


จากสงครามเพื่อเอกราชในศตวรรษที่ 19 เม็กซิโกได้จารึกชื่อของวีรชนไว้ตามเมืองต่าง ๆ โดยเมือง Dolores (ที่ Miguel Hidalgo เคยตะโกนร้องว่า “Viva!”) ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Dolores Hidalgo เพื่อยกย่องบิดาแห่งเอกราชเม็กซิโก นอกจากนี้ ในยุคที่ประเทศเม็กซิโกเริ่มสร้างระบอบการปกครองแบบกระจายอำนาจให้แก่รัฐต่าง ๆ หนึ่งในรัฐที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ตอนนั้นก็ใช้ชื่อว่า Hidalgo


นอกจาก Miguel Hidalgo แล้ว ผู้นำการเคลื่อนไหวคนอื่น ๆ ก็ได้รับการยกย่องในการตั้งชื่อเมืองเช่นกัน โดยบ้านเกิดของ Ignacio Allende, José María Morelos และ Vicente Guerrero ต่างใช้ชื่อของพวกเขาเป็นชื่อเมือง


เมือง San Miguel de Allende – นาย Ignacio Allende เป็นนายทหารที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวและร่วมต่อสู้กับบาทหลวง Miguel Hidalgo ตั้งแต่แรกเริ่มในปี ค.ศ. 1810 จนกระทั่งทั้งสองถูกจับกุมและถูกประหารชีวิตในปี ค.ศ. 1811 ต่อมา เมือง San Miguel el Grande บ้านเกิดของเขา จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น San Miguel de Allende แปลว่า “เมือง San Miguel ของนาย Allende”



รูปภาพ : Centro Histórico เมือง San Miguel de Allende รัฐ Guanajuato ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี ค.ศ. 2008 ปัจจุบันนอกจากจะเป็นเมืองท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นเมืองในเม็กซิโกที่ชาวต่างชาตินิยมมาใช้ชีวิตหลังเกษียณมากที่สุดด้วย


เมือง Morelia – หลังจากที่ Miguel Hidalgo ถูกประหารชีวิตในปี ค.ศ. 1811 ผู้สืบทอดการเคลื่อนไหวคนต่อมาคือ José María Morelos ซึ่งเป็นผู้นำการปฏิวัติจนถึงปี ค.ศ. 1815 ก่อนจะถูกจับกุมและประหารชีวิตเช่นกัน ต่อมาเมือง Valladolid บ้านเกิดของเขาได้เปลี่ยนชื่อเป็น Morelia เพื่อเป็นเกียรติแด่ผู้นำรุ่นที่สองของการปฏิวัติ (ชื่อเมือง Morelia ถูกดัดแปลงจากชื่อ Morelos เพื่อไม่ให้ซ้ำกับชื่อรัฐอีกแห่งที่ก่อตั้งใหม่ในสมัยนั้นและได้ใช้ชื่อนี้ไปแล้ว)



รูปภาพ : Centro Histórico เมือง Morelia รัฐ Michoacán ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี ค.ศ. 1991 เมืองนี้นอกจากจะเป็นบ้านเกิดของ José María Morelos แล้ว ยังเป็นบ้านเกิดของวีรสตรีคนสำคัญ นั่นก็คือ Josefa Ortiz ผู้ก่อตั้งกลุ่มสนทนาที่ Miguel Hidalgo และ Ignacio Allende ได้พูดคุยกันและเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติ


รูปภาพ : ถ้าอยากรู้ว่า José María Morelos หน้าตาเป็นอย่างไร ก็แค่ต้องเงยหน้ามองโคมไฟที่ติดอยู่ตามท้องถนน


รัฐ Guerrero – ผู้นำรุ่นที่สามที่สืบทอดการเคลื่อนไหวต่อจาก José María Morelos คือนายทหารชื่อ Vicente Guerrero ซึ่งสามารถนำพากลุ่มปฏิวัติไปถึงที่หมายและประกาศเอกราชจากสเปนสำเร็จในปี ค.ศ. 1821 และเป็นประธานาธิบดีคนที่สองของสหรัฐเม็กซิโกเมื่อปี ค.ศ. 1829 ต่อมา ในยุคการกระจายอำนาจการปกครองสู่ระดับรัฐ พื้นที่ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ Vicente Guerrero ได้กลายมาเป็นรัฐที่มีชื่อว่า Guerrero รัฐนี้เป็นเพียงรัฐเดียวจากทั้งหมด 32 รัฐของเม็กซิโกที่ตั้งชื่อตามอดีตประธานาธิบดี



รูปภาพ : แม้ว่าในรัฐ Guerrero จะไม่ได้มีเมืองที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของ UNESCO แต่ก็มีสถานที่ที่มีเสน่ห์ทางประวัติศาสตร์ที่ไม่น้อยหน้าเมืองอื่น ๆ ที่นำเสนอไปก่อนหน้านี้เลย Taxco เป็นเมืองที่ทุกคนจะจดจำได้ด้วยภาพของถนนที่เต็มไปด้วยรถโฟลค์เต่าสีขาว วิ่งแล่นไปในเมืองที่บ้านทุกหลังเป็นสีขาวตัดกับสีแดง ในอดีตเมืองแห่งนี้เคยเป็นเหมืองเงินและแหล่งผลิตเครื่องเงินที่ใหญ่ที่สุดอันดับต้น ๆ ของโลก (เงินล็อตแรกที่ส่งจากทวีปอเมริกากลับไปยังสเปนก็มาจาก Taxco นี่แหล่ะ) และยังคงเป็นเมืองผลิตเครื่องเงินของเม็กซิโกมาจนถึงปัจจุบัน



บ้านหลังสุดท้าย


แม้ว่าผู้นำการปฏิวัติทั้ง 4 คนที่กล่าวถึงมานั้นจะเกิดกันคนละที่ คนละเวลา แต่ปัจจุบันอัฐิของพวกเขาได้มารวมอยู่ที่บ้านหลังเดียวกัน นั่นก็คือ อนุเสาวรีย์นางฟ้าแห่งเสรีภาพ (Ángel de la Independencia) ซึ่งถูกสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1910 ในโอกาสครบรอบ 100 ปีแห่งการต่อสู้เพื่อเอกราช อนุเสาวรีย์แห่งนี้ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของกรุงเม็กซิโกในปัจจุบัน


รูปภาพ : อนุสาวรีย์ Ángel de la Independencia ตั้งอยู่บนถนนสายหลักของกรุงเม็กซิโก คือถนน Paseo de la Reforma ซึ่งทุกวันอาทิตย์จะปิดเป็นถนนสำหรับจักรยานและคนเดิน



อันที่จริงแล้ว เมืองมรดกโลกของเม็กซิโกไม่ได้มีแต่บนเส้นทางสู่เอกราชเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายแห่งที่บอกเล่าเรื่องราวของชนพื้นเมืองที่อยู่มาเป็นพันปีก่อนที่ชาวสเปนจะเข้ามา รวมถึงเรื่องราวของการเข้ายึดอาณานิคมโดยสเปน ซึ่งสามารถอ่านกันต่อได้ในบันทึกเรื่อง "เดินทางคู่ขนาน อาณานิคมสเปนกับเมืองโบราณเม็กซิโก"



แหล่งข้อมูล :

สถาบันศิลปะและประวัติศาสตร์แห่งเม็กซิโก (https://www.inah.gob.mx/)

280 views0 comments

Comentarios


bottom of page