top of page
Writer's pictureพงศ์สิน เทพเรืองชัย

เดินทางคู่ขนาน อาณานิคมสเปนกับเมืองโบราณเม็กซิโก

Updated: Nov 8, 2020

เวลาเดินทางไปยังเมืองต่าง ๆ ในเม็กซิโก เรามักรู้สึกเหมือนได้ท่องไปในสองยุคสมัยในคราวเดียวกัน หนึ่งคือเมืองโบราณจากยุคก่อนที่สเปนจะเข้ามา (prehispanic) และอีกหนึ่งคือเมืองโคโลเนียลที่สเปนสร้างขึ้น ในแต่ละเมืองเราจะเห็นป้ายบอกทางที่ชี้ไปย่านเมืองเก่า หรือ Centro Histórico (เมืองโคโลเนียล อายุไม่เกิน 500 ปี) กับอีกป้ายหนึ่งที่ชี้ไปย่านโบราณสถาน หรือ Zona Arqueológica (อายุมากกว่า 500 ปี ไปจนถึง 3,000 ปี)



พอย้อนนึกกลับไปถึงสถานที่ทั้งหลายที่เคยไปมาในช่วงเวลา 4 ปีที่เราใช้ชีวิตอยู่ที่เม็กซิโก ก็เริ่มเห็นว่าจริงแล้วเรื่องราวของเมืองต่าง ๆ นั้นล้วนเป็นชิ้นส่วนที่ต่อออกมาเป็นจิ๊กซอภาพใหญ่ได้ ตั้งแต่อาณานิคมแห่งแรกที่สเปนมาตั้งบนทวีปอเมริกา จนถึงเมืองสุดท้ายที่ผนวกร่วมเป็นสหรัฐเม็กซิโก และอารยธรรมเก่าแก่ที่อยู่ในพื้นที่มาแต่เดิมก่อนที่ชาวสเปนจะเข้ามา จึงเป็นที่มาของการเขียนบันทึกฉบับนี้ ...



Veracruz จุดเริ่มต้นของอาณานิคมสเปนบนอเมริกาแผ่นดินใหญ่


เมื่อต้นศตวรรษที่ 16 หลังจากที่สเปนได้ตั้งอาณานิคมบนหมู่เกาะแคริบเบียนแล้ว นาย Hernán Cortés ผู้นำกองทัพบุกเบิกโลกใหม่ ก็เดินทางจากคิวบาต่อมายังเม็กซิโกและขึ้นบกเมื่อวันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 1519 ซึ่งตรงกับวัน Good Friday (วันที่พระเยซูถูกขึงบนไม้กางเขน) สเปนจึงตั้งชื่อเมืองแห่งนี้ว่า Villa Rica de La Vera Cruz (แปลว่า เมืองมั่งคั่งแห่งไม้กางเขน) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Veracruz (เบ-รา-กรูซ)





Veracruz คือเมืองแห่งแรกของจักรวรรดิสเปนบนอเมริกาแผ่นดินใหญ่ เปรียบเสมือนประตูที่เชื่อมโลกเก่า (ยุโรป) กับโลกใหม่ (อเมริกา) และเป็นทางผ่านของสินค้าที่นำเข้าจากทวีปยุโรปมายังทวีปอเมริกา ในขณะเดียวกันก็เป็นท่าเรื่อสำหรับส่งออกสินค้าแปลกใหม่จากเม็กซิโกสู่ตลาดยุโรป ไม่ว่าจะเป็น มะเขือเทศ พริก โกโก้ และวะนิลา


การค้าระหว่างทวีปอเมริกากับยุโรปรุ่งเรืองมากจนทำให้เรือบรรทุกสินค้าในทะเลแคริบเบียนกลายเป็นที่หมายปองของเหล่าโจรสลัดในช่วงศตวรรษที่ 17-18 (เหมือนในเรื่อง Treasure Island และ Pirates of the Caribbean)





รูปภาพ : Veracruz เป็นทั้งท่าเรือสำหรับขนส่งสินค้า และสำหรับกองทัพเรือ


แน่นอนว่านอกจากสินค้าแล้ว ท่าเรือ Veracruz ยังเป็นประตูสู่โลกใหม่สำหรับชาวยุโรปที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาแสวงหาโชคลาภและความร่ำรวย รวมทั้งสำหรับชาวแอฟริกาที่ถูกขายมาใช้แรงงานในอาณานิคม (อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล)


ความหลากหลายทางเชื้อชาตินี้หล่อหลอมให้เกิดวัฒนธรรมผสมระหว่างยุโรป-แอฟริกา-ชนพื้นเมือง โดยหนึ่งในผลิตผลคือดนตรีแนวแอโฟร-ลาติโน ชื่อว่า son jarocho (ซน-ฆา-โร-โช) ที่ผสมผสานเครื่องสายจากสเปนเข้ากับเครื่องเคาะจากแอฟริกาได้อย่างลงตัว เพลงที่เราคุ้นเคยกันมากที่สุดคงจะเป็น La Bamba ที่เคยโด่งดังไปทั่วโลกจากเสียงขับร้องของศิลปินอเมริกันเชื้อสายเม็กซิกันอย่าง Ritchie Valens ในยุค 1950 และ Los Lobos ในยุค 1980



รูปภาพ : งานศิลปะบนกำแพงที่สะท้อนถึงประวัติศาสตร์ของคนผิวสีในเมือง Veracruz



รูปภาพ : ตามร้านกาแฟมักจะมีวงดนตรีมาบรรเลงสด โดยเครื่องดนตรีชิ้นเด่นก็คือ marimba เครื่องเคาะชื่อดังของเม็กซิโกที่มีพื้นฐานมาจากเครื่องเคาะของชาวแอฟริกา


แต่หากย้อนกลับไปก่อนที่สเปนจะยกพลขึ้นบกที่ Veracruz พื้นที่นี้เดิมเป็นถิ่นฐานของอารยธรรม Totonac (โต-โต-นัค) ซึ่งเคยรุ่งเรืองในช่วงศตวรรษที่ 9-13 ก่อนจะตกมาอยู่ภายใต้อิทธิพลของจักรวรรดิ Aztec (อาซ-เท็ค) ในเวลาต่อมา




รูปภาพ : โบราณสถาน El Tajín


ศูนย์กลางการปกครองของชาว Totonac ตั้งอยู่ในสถานที่ซึ่งปัจจุบันคือเมือง Papantla (ปา-ปันต์-ลา) ในรัฐ Veracruz เมืองนี้เป็นที่ตั้งของโบราณสถาน El Tajín (เอล-ตา-ฆิน) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ มีอาคารที่อยู่อาศัยและศาสนสถานหลายแห่ง รวมถึงสนามแข่งบอลมากถึง 24 สนาม


ชาวเมโสอเมริกามีประเพณีการแข่งบอลมาเป็นเวลาช้านาน แต่การแข่งบอลนี้ต่างจากกีฬาฟุตบอลมาก เขาไม่ได้ใช้เท้าเตะลูกบอลและไม่ได้ยิงประตู แต่ว่าใช้สะโพกกับไหล่เพื่อกระทบให้ลูกบอลยางลอยขึ้นไปลอดผ่านห่วงเล็ก ๆ ที่ติดอยู่บนกำแพง การแข่งบอลนี้เป็นส่วนหนึ่งของพิธีการทางศาสนา โดยทีมที่แข่งชนะจะได้รับเกียรติในการสละชีวิตของตนเพื่อไปอยู่กับพระเจ้าในภพต่อไป



สิ่งที่โดดเด่นที่สุดของ El Tajín ก็คือสถาปัตยกรรมของปิรามิดที่มีฐานสี่เหลี่ยมซ้อนกัน 7 ชั้น โดยแต่ละชั้นมีช่องสี่เหลี่ยมคล้ายหน้าต่างอยู่รอบด้าน นับรวมทั้งสิ้น 365 ช่อง



นักโบราณคดีเชื่อกันว่า การสร้างฐาน 7 ชั้น ที่มี 365 ช่องนี้น่าจะอิงกับหลักดาราศาสตร์ ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่กลุ่มอารยธรรมต่าง ๆ ในเมโสอเมริกามีความเชี่ยวชาญ



Mexico City เมืองหลวงของชาวอาซเทค ชาวสเปน และชาวเม็กซิกัน


สองปีหลังจากที่ Hernán Cortés ขึ้นบกที่เมือง Veracruz สเปนก็สามารถยึดอาณาจักรสำคัญของภูมิภาคอเมริกาได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1521 นั่นก็คือ Tenochtitlán (เต-โนช-ติต-ลัน) เมืองหลวงของชาวอาซเท็ค หรือเรียกอีกชื่อว่า Mexica (เม-ชี-กา) และสร้างเมืองใหม่ขึ้นมาแทน โดยตั้งชื่อว่า México (เม-ฮี-โก) ซึ่งเป็นการถอดเสียงมาจาก Mexica นั่นเอง


เมือง México หรือ กรุงเม็กซิโก เป็นศูนย์กลางการปกครองของอาณานิคม Nueva España หรือ “สเปนใหม่” (ครอบคลุมพื้นที่ในอเมริกาเหนือ-กลาง) เป็นเวลา 300 ปี ก่อนที่อาณานิคมนี้จะประกาศตัวเป็นเอกราชจากจักรวรรษสเปนในปี ค.ศ. 1821 และเปลี่ยนมาเป็นสาธารณรัฐที่มีชื่อว่าสหรัฐเม็กซิโก โดยยังคงใช้กรุงเม็กซิโกเป็นเมืองหลวงมาจนถึงปัจจุบัน



เมืองเก่าของกรุงเม็กซิโก วางผังตามแบบนิยมของสเปน คือ มีจัตุรัสใหญ่ตรงกลางและมีอาคารสำคัญรอบด้าน เช่น โบสถ์ วัง สถานที่ราชการ ฯลฯ ซึ่งในปัจจุบันอาคารบางแห่งก็ยังเป็นสถานที่ราชการอยู่ ในขณะที่หลายแห่งได้กลายเป็นโรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร และพิพิธภัณฑ์





ในยุคก่อนที่สเปนจะมาถึง เมือง Tenochtitlán เดิมเคยเป็นเมืองกลางทะเลสาบและใช้คลองเป็นเส้นทางคมนาคมหลัก คล้าย ๆ กับเกาะรัตนโกสินทร์ที่กรุงเทพฯ แต่ว่าการถมคลองเพื่อสร้างเมืองใหม่ในยุคอาณานิคมสเปน บวกกับการแห้งเหือดของทะเลสาบในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันพื้นที่นี้ไม่หลงเหลือคราบความเป็น “เวนิซแห่งอเมริกา” จากเมื่อห้าร้อยปีก่อนเลย


รูปภาพ : ภาพวาดโดย Diego Rivera บนกำแพงใน Palacio Nacional แสดงให้เห็นอดีตสมัยที่ Tenochtitlán เป็นเมืองกลางทะเลสาบ


รูปภาพ : ชาวอาซเท็คเดิมเคยเป็นเผ่าพเนจร โดยมีความเชื่อว่าพระเจ้าให้ปักหลักสร้างเมืองในดินแดนที่พบเจอพญาอินทรีที่กินงูอยู่บนต้นกระบองเพชร ซึ่งพวกเขาได้มาพบเห็นสิ่งนี้ที่ Tenochtitlán เมื่อปี ค.ศ. 1325 บนเกาะกลางทะเลสาบ Texcoco (เต็กซ-โก-โก) เขาจึงสร้างเมืองขึ้นที่นี่ ภาพของพญาอินทรีคาบงูอยู่บนต้นกระบองเพชรได้กลายมาเป็นตราสัญลักษณ์ประชำชาติที่ปรากฏบนธงชาติเม็กซิโก และเป็นตราของราชการ


อาณานิคม “สเปนใหม่” ถูกสร้างขึ้นทับเมืองเก่า โดยรื้อถอนหินจากอาคารของชาวอาซเทคมาใช้ก่อสร้างอาคารทรงสเปน ทำให้ในปัจจุบันมีร่องรอยของเมือง Tenochtitlán หลงเหลือน้อยมาก แต่ก็ยังพอมีให้เห็นกันที่ Templo Mayor (เตม-โปล-มา-ยอร์) ศาสนสถานหลักของเมือง Tenochtitlán





Templo Mayor ที่เราเห็นในปัจจุบันเป็นเพียงบางส่วนของฐานล่างของโครงสร้างขนาดใหญ่ เราจะเห็นได้ว่าในสถาปัตยกรรมอาซเทคจะมีหัวของ Quetzalcoátl (เก็ต-ซัล-โก-อัตล์) (พยานาคหรือมังกรของชาวอาซเทค) ที่ทางขึ้นบันได ซึ่งทำให้นึกถึงพญานาคที่บันไดวัดไทยหรือมังกรที่บันไดวัดจีน



ใกล้ ๆ กับกรุงเม็กซิโกยังมีโบราณสถานอีกแห่ง คือ Teotihuacán (เต-โอ-ติ-อัว-กัน) อารยธรรมที่อยู่มาก่อนอาซเท็คนับพันปี ตั้งแต่เมื่อประมาณสองร้อยปีก่อนคริสตศกราช เมืองแห่งนี้คือเมืองที่มีการวางแผนผังแห่งแรกในเมโสอเมริกา โดยมีถนนใหญ่ ชื่อว่า “ถนนแห่งความตาย” (Avenue of the Dead) วิ่งตรงจาก “วัดมังกร” (Temple of Quetzalcóatl) ไปถึง “ปิรามิดสุริยัน” (Pyramid of the Sun) และ “ปิรามิดจันทรา” (Pyramid of the Moon) โดยสองข้างถนนมีอาคารขนาดย่อมเรียงไปตลอดทาง


รูปภาพ : มุมมอง panorama ของเมือง Teotihuacán และถนนแห่งความตาย


รูปภาพ : ปิรามิดจันทรา



รูปภาพ : ปิรามิดสุริยัน


รูปภาพ : บันไดที่วัดมังกร Quetzalcóatl


รูปภาพ : สภาพภายในอาคาร Ciudadela ที่ได้รับการบูรณะแล้ว อาคารนี้คาดว่าน่าจะเป็นที่อยู่อาศัยของเจ้าผู้ครองเมืองในอดีต


อันที่จริง ชื่อถนนและสถานที่ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ถูกตั้งขึ้นโดยชาวอาซเทคที่มาค้นพบเมืองดังกล่าวหลังจากที่ได้ล่มสลายไปแล้วหลายร้อยปี แม้แต่ชื่อ “Teotihuacán” เองก็ตั้งโดยชาวอาซเทค แปลว่า “เมืองของพระเจ้า” ในภาษา Náhuatl (นา-อวตล์)



Puebla ทางผ่านจากอ่าวเม็กซิโกสู่กรุงเม็กซิโก


ในยุคบุกเบิกอาณานิคม สเปนได้สร้างเมือง Puebla (ปู-เอ-บลา) ขึ้นระหว่างกรุงเม็กซิโกกับเมือง Veracruz และด้วยทำเลที่เป็นทางผ่านระหว่างเมืองหลวงกับท่าเรือนี้เอง ทำให้ Puebla พัฒนามาเป็นเมืองการค้าที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของเม็กซิโกในยุคอาณานิคม และยังคงเป็นเมืองอุตสาหกรรมของเม็กซิโกมาจนถึงปัจจุบัน



นอกจากจะเป็นเมืองเศรษฐกิจแล้ว Puebla ยังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ด้วย เนื่องจากเป็นสนามรบในสงครามระหว่างเม็กซิโกกับฝรั่งเศสถึง 2 ครั้ง ซึ่งในครั้งแรกนั้น เม็กซิโกสามารถรักษาดินแดนไว้สำเร็จ แต่ว่าฝรั่งเศสกลับมาเอาชนะได้ในครั้งที่สองและปกครองเม็กซิโกเป็นเวลาสั้น ๆ ระหว่างปี ค.ศ. 1863-1867




ชัยชนะในสงครามเม็กซิโก-ฝรั่งเศสครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1862 คือที่มาของเทศกาล 5 de Mayo (ซิง-โก-เด-มา-โย่ แปลว่า "5 พฤษภาคม") ในสหรัฐอเมริกา โดยเทศกาลดังกล่าวริเริ่มโดยคนเชื้อสายเม็กซิกันในสหรัฐฯ และต่อมาเทศกาลนี้ได้รับความนิยมจนกระทั่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายไปยังต่างประเทศด้วย แม้ว่าในเม็กซิโกเองจะไม่ได้มีการฉลองอะไรกันเท่าไหร่ (นอกจากที่เมือง Puebla)



รูปภาพ : อาคารหลายแห่งในเมือง Puebla จะประดับด้วยกระเบื้องที่มีลวดลายสวยงาม เนื่องจากที่นี่คือเมืองหลวงแห่งงานกระเบื้องของเม็กซิโก


ทางตะวันตกของเมือง Puebla ห่างออกไปประมาณ 15 กม. เราจะพบกับปิรามิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเม็กซิโก และใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก นั่นก็คือ ปิรามิด Tlachihualtepetl (ตลา-ชิ-อวล-เต-เปตล์ แปลว่า “ภูเขาที่สร้างด้วยมือ”) แห่งเมือง Cholula (โช-ลู-ล่า)




ปิรามิดนี้ถูกสร้างขึ้นและต่อเติมมาเรื่อย ๆ ในหลายยุคสมัยโดยกลุ่มผู้อยู่อาศัยที่เปลี่ยนผ่านไปตามกาลเวลา โดยมีการขยายโครงสร้างซ้อนทับของเดิมร่วม 6 ชั้น จนกระทั่งมีขนาดใหญ่อย่างที่เห็น



ชาวสเปนได้สร้างโบสถ์คาทอลิก Iglesia de Nuestra Señora de los Remedios (Our Lady of Remedies Church) ไว้ที่ยอดปิรามิดของชนพื้นเมือง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าสเปนและศาสนาคริสต์คาทอลิกได้เข้าปกครองเมืองแล้ว ในเวลาต่อมา ต้นไม้และต้นหญ้าได้ขึ้นมาปกคลุมปิรามิดแห่งนี้จนทำให้อาจเข้าใจผิดได้ว่า โบสถ์นี้สร้างอยู่บน “ยอดเขา”




Yucatán เมืองมายา


หลังจากที่สเปนสามารถยึดอาณาจักรอาซเท็คได้สำเร็จ จุดมุ่งหมายต่อไปก็คืออาณาจักรมายา (Maya) ทางฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงเม็กซิโก โดยได้เข้ายึดพื้นที่ Yucatán (ยู-กา-ตัน) และสร้างเมือง Mérida (เม-ริ-ดา) ขึ้นในปี ค.ศ. 1542 เพื่อเป็นศูนย์กลางการปกครองประจำภูมิภาคนี้


ด้วยระยะทางที่ห่างไกลจากเมืองหลวง ทำให้เมือง Mérida และพื้นที่ Yucatán ค่อนข้างเป็นเอกเทศและไม่ได้อยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมืองของกรุงเม็กซิโกมากนัก แต่ก็ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากกลุ่มปฏิวัติในช่วงสงครามเอกราช โดย Mérida สนับสนุนแนวคิดนี้และพร้อมเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเอกราชใหม่





รูปภาพ : อาคารบ้านเรือนในย่านใจกลางเมืองมีขนาดใหญ่โตและโอ่โถงทั้งภายนอก-ภายใน


Mérida มีย่านเมืองเก่าที่ใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของทวีปอเมริกา มีขนาดเป็นรองก็แต่กรุงเม็กซิโก และกรุงฮาวานา (ประเทศคิวบา) ความมั่งคั่งของเมืองนี้มาจากการผลิตและส่งออกใยว่าน henequen สำหรับใช้ทำเชือก ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดโลกและมีราคาสูงในช่วงศตวรรษที่ 19-20 ทำให้ Mérida เป็นหนึ่งในเมืองที่ร่ำรวยที่สุดแห่งหนึ่งของเม็กซิโกในสมัยนั้น




รูปภาพ : ในยุคที่เศรษฐกิจ Mérida เติบโตจากการส่งออกใยว่าน henequen ได้มีการสร้างคฤหาสน์หรูจำนวนมากบนถนน Paseo de Montejo ปัจจุบันคฤหาสน์เหล่านี้ส่วนใหญ่ได้กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์ของเมือง


ทุกวันนี้ Mérida ยังคงเป็นที่อยู่อาศัยของชนพื้นเมืองเชื้อสายมายา ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 60 ของประชากรเมืองนี้ และพื้นที่โดยรอบเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณของชาวมายาหลายแห่ง แม้ว่าในเมือง Mérida เองจะไม่มีโบราณสถานหลงเหลืออยู่แล้ว (การสร้างเมือง Mérida ก็คล้าย ๆ กับที่กรุงเม็กซิโก นั่นก็คือ รื้อถอนก้อนหินจากอาคารโบราณของคนชนพื้นเมืองเพื่อใช้ก่อสร้างอาคารสเปนขึ้นมาแทนที่) แต่ก็ยังนับว่าโชคดีที่พื้นที่รอบ ๆ ไม่ได้ถูกรื้อถอนไปด้วย




รูปภาพ : เมือง Uxmal


หากเดินทางลงใต้จากเมือง Mérida ไปประมาณ 60 กม. เราจะเข้าสู่พื้นที่ที่เรียกกันว่า Puuc region (“puuc” ในภาษามายาแปลว่า "ภูเขา") ซึ่งเป็นที่ตั้งของกลุ่มเมืองมายา ประกอบด้วยเมืองหลัก คือ Uxmal (อูช-มาล) และเมืองรองสามแห่ง ได้แก่ Kabah (กาบาห์) Labná (ลับนา) และ Sayil (ซายีล) ซึ่งเคยรุ่งเรืองเมื่อช่วงยุค ค.ศ. 700-1000



รูปภาพ : สถาปัตยกรรมในภูมิภาคนี้ หรือที่เรียกว่า Puuc architecture มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยอาคารส่วนล่างจะเรียบ ๆ ไม่มีลวดลาย ในขณะที่ส่วนบนจะตกแต่งด้วยก้อนหินที่จัดเรียงเป็นลายเรขาคณิตและรูปแกะสลักอย่างสวยงาม


ชาวสเปนไม่ได้เข้ามาบุกเบิกอาณานิคมในภูมิภาค Puuc เนื่องจากได้สร้างเมืองใหญ่ไว้ที่ Mérida แล้ว ทำให้โบราณสถานในพื้นที่นี้ไม่ถูกทำลาย แต่ก็ได้ผุพังไปตามเวลาหลายร้อยปีที่ถูกปล่อยร้าง จนกระทั่งนักโบราณคดีเริ่มเข้ามาทำการศึกษาในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 และมีการบูรณะซ่อมแซมอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน




รูปภาพ : เมือง Kabah


ทางตะวันออกของเมือง Mérida ไปประมาณ 120 กม. เราจะพบกับเมืองมายาที่สำคัญอีกแห่ง คือ Chichén Itzá (ชิ-เชน-อิท-ซา) หนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัสจรรย์ของโลกตามการจัดลำดับ New 7 Wonders of the World และหนึ่งในสถานที่ที่มีชาวต่างชาติเดินทางมาเยี่ยมชมมากที่สุดของเม็กซิโก



Chichén Itzá ซึ่งในภาษามายาแปลว่า "ต้นทางแห่งความสุขสบายของประชาชน" เป็นเมืองที่รุ่งเรืองเมื่อช่วงศตวรรษที่ 9-13 โดยมีลักษณะที่ต่างจากเมืองมายาอื่น ๆ คือ มีการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมแบบ Puuc (ภาคใต้) กับสถาปัตยกรรมภาคกลางของเม็กซิโก และเป็นไปได้ว่านี่คือเมืองที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ-วัฒนธรรมมากที่สุดในเมโสอเมริกาในสมัยนั้น


รูปภาพ : วัด Kukulkan (กู-กุล-กัน) สร้างให้กับเทพเจ้างู/มังกร (ซึ่งในวัฒนธรรมอาซเทคเรียกว่า Quetzalcóatl) โดยมีบันไดขึ้น-ลงทั้งสี่ฝั่ง (ตรงกับทิศเหนือ-ใต้-ออก-ตก) บันไดแต่ละฝั่งมี 91 ขั้น รวมกันเป็น 364 ขั้น และเมื่อขึ้นไปถึงข้างบนแล้ว ก็มีบันไดอีกหนึ้งขั้นก่อนเข้าสู่วิหาร จึงมีทั้งสิ้น 365 ขั้น สะท้อนถึงความเป็นนักดาราศาสตร์ของชาวมายา และนักโบราณคดีเชื่อกันว่าปิรามิดนี้ใช้เป็นปฏิทินด้วย


รูปภาพ : สนามแข่งบอล


รูปภาพ : วิธีการทำคะแนนในการแข่งบอลของชาวเมโสอเมริกา คือ ใช้สะโพกกับไหล่กระทบลูกยางให้ลอยขึ้นไปลอดห่วงที่อยู่บนกำแพงสูงนี้



Oaxaca ดินแดนแห่งวัฒนธรรมพื้นเมือง


นาย Hernan Cortes ได้ทราบจากจักรพรรดิ Moctezuma องค์ที่ 2 แห่ง Tenochtitlan (ซึ่งขณะนั้นถูกจับเป็นตัวประกัน) ว่าภูมิภาค Oaxaca (อัว-ฮา-กา) มีแร่ทอง ซึ่งเป็นสิ่งที่เหล่านักล่าอาณานิคมแสวงหา เมื่อได้ยินเช่นนี้แล้ว นาย Hernan Cortes ก็ไม่รอช้า และส่งกำลังคนลงไปยึดพื้นที่ดังกล่าวด้วย





แม้ว่าสเปนจะได้สร้างอาณานิคมขึ้นที่ Oaxaca แต่ว่าด้วยภูมิศาสตร์และการคมนาคมที่ไม่สะดวกนัก Oaxaca จึงพัฒนาไปอย่างค่อนข้างเป็นอิสระจากส่วนกลาง โดยชนพื้นเมืองสามารถดำรงวิถีชีวิตแบบเดิมต่อมาเรื่อย ๆ Oaxaca จึงสามารถรักษาวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ไว้ได้มากกว่าเมืองอาณานิคมสเปนส่วนใหญ่ และเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงด้านอาหารและงานฝีมือของเม็กซิโกในปัจจุบัน


รูปภาพ : การแต่งกายและการเต้นของชนพื้นเมือง


รูปภาพ : พรมทอมือ (และย้อมมือ) เป็นหนึ่งในหลาย ๆ งานฝีมือที่มีชื่อเสียงของ Oaxaca


รูปภาพ : โกโก้มีถิ่นกำเนิดที่เม็กซิโก ใช้สำหรับทำเครื่องดื่มสมุนไพรรสชาติขมที่ชื่อว่า xocolatl (โช-โก-ลัตล์) และสำหรับทำเครื่องแกงปรุงอาหารที่ชื่อว่า mole (โม-เล่ มีรสชาติคล้าย ๆ กับแกงมัสมั่นที่มีกลิ่นโกโก้) ซึ่งต่อมาชาวยุโรปได้นำวัตถุดิบนี้มาใช้ทำของหวานที่เรียกกันว่าช็อกโกแลต คำว่า chocolate นั้นก็เป็นการถอดเสียงจาก xocolatl ในภาษา Náhuatl นั่นเอง


เมือง Oaxaca คือเมืองหลวงของรัฐ Oaxaca ชื่อเต็มของเมืองนี้คือ Oaxaca de Juárez (แปลว่า Oaxaca ของ Juárez) เนื่องจากเป็นบ้านเกิดของ Benito Juárez ประธานาธิบดีเชื้อสายพื้นเมืองคนแรกและคนเดียวในประวัติศาสตร์เม็กซิโก


รูปภาพ : บ้านของ Benito Juárez ปัจจุบันเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์


แม้เวลาจะผ่านมากว่าหนึ่งร้อยปี นาย Benito Juárez ก็ยังคงเป็นหนึ่งในผู้นำที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดของเม็กซิโก ด้วยชีวิตที่เริ่มต้นจากการเป็นเด็กรับใช้ในบ้านชนชั้นสูง แต่ขยันเรียนหนังสือจนได้ทำงานเป็นนักกฎหมายและเติบโตมาเป็นผู้นำที่ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ รวมถึงนำพาเม็กซิโกให้หลุดพ้นการปกครองของจักรวรรดิฝรั่งเศสอีกด้วย


Benito Juárez เป็นชาว Zapotec (ซา-โป-เต็ค) ชนพื้นเมืองกลุ่มใหญ่ที่สุดของ Oaxaca และหนึ่งในอารยธรรมที่เก่าแก่ที่สุดของเม็กซิโก


ห่างจาก Oaxaca ไปเพียง 8 กม. เราจะพบกับโบราณสถาน Monte Albán (มน-เต-อัล-บัน) ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการปกครองของชาว Zapotec เมืองนี้คือเมืองแห่งแรก ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศเม็กซิโก (ในยุคร่วมสมัยกับชาว Teotihuacán ทางภาคกลาง) โดยเริ่มมีการตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ 500 ปีก่อนคริสต์ศักราช






Monte Albán คือศูนย์กลางทางการเมืองของชาว Zapotec แต่ว่าศูนย์กลางทางศาสนาอยู่ของพวกเขาอยู่อีกเมืองหนึ่ง ชื่อว่า Mitla (มิต-ลา) ซึ่งอยู่ห่างจาก Oaxaca มาประมาณ 40 กม.


Mitla คือโบราณสถานที่สำคัญที่สุดอันดับสองของ Oaxaca (รองจาก Monte Albán) ในช่วงแรกเมืองนี้เคยเป็นของชาว Zapotec แต่ต่อมาได้มีชนพื้นเมืองอีกกลุ่ม ชื่อว่า Mixtec (มิกซ-เต็ค) เข้ามาอยู่ในพื้นที่และขึ้นมามีอิทธิพลแทน


รูปภาพ : สถาปัตยกรรมที่ Mitla มีลวดลายที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่พบในโบราณสถานอื่นของเม็กซิโก ลวดลายเหล่านี้เป็นอิทธิพลมาจากศิลปะสไตล์ Mixtec



รูปภาพ : ลายเรขาคณิตเหล่านี้ไม่ใช่การแกะสลัก แต่สร้างโดยการตัดหินเป็นชิ้น ๆ มาประกอบกัน



Chiapas รัฐสุดท้ายที่ผนวกเข้าเป็นสหรัฐเม็กซิโก


สเปนได้เข้ามาสร้างอาณานิคมใน Chiapas (เชีย-ปาซ) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1523 แต่ด้วยทำเลที่เข้าถึงยาก ไม่พบแร่มีค่า และไม่มีที่ราบสำหรับทำการเกษตร จึงทำให้ไม่ได้รับความสนใจจากเมืองหลวงเท่าไหร่ แม้กระทั่งในช่วง 11 ปีของสงครามเพื่อเอกราช Chiapas ก็ไม่ค่อยถูกกระทบ


ชื่อรัฐ Chiapas มีที่มาจากคำว่า "chiapan" ซึ่งในภาษา Náhuatl แปลว่า "แม่น้ำแห่งเมล็ด chia" เนื่องจากมีเมล็ดเชียอยู่เยอะ (เมล็ดเชียที่ในช่วงหลายปีมานี้ได้ขึ้นแท่นเป็นหนึ่งใน super foods และเป็นที่นิยมไปทั่วโลกนั้นมีถิ่นกำเนิดที่เม็กซิโก)



หลังจากที่อาณานิคมสเปนใหม่ประกาศเอกราชจากสเปนในปี ค.ศ. 1821 พื้นที่ดังกล่าวได้แตกออกมาเป็น 2 รัฐเอกราช คือ เม็กซิโก กับ อเมริกากลาง (ปัจจุบันคือกัวเตมาลา เบลีซ ฮอนดูรัส นิคารากัว เอลซัลวาดอร์ และคอสตาริกา) และโดยที่ Chiapas ค่อนข้างจะตัดขาดจากภายนอกมาโดยตลอด ไม่เคยใกล้ชิดกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากนัก ผู้คนใน Chiapas จึงมีความเห็นต่างกันไปว่าควรจะผนวกรวมกับเม็กซิโกหรือกับอเมริกากลางดี รวมถึงมีกลุ่มคนที่เห็นว่า Chiapas ควรประกาศตนเป็นรัฐเอกราชไปเลย ความขัดแย้งนี้มีต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ อีกสองทศวรรษ แต่ในที่สุดก็ลงเอยว่า Chiapas ผนวกรวมกับเม็กซิโกอย่างเต็มตัวในปี ค.ศ. 1841 และเป็นรัฐสุดท้ายที่เข้าร่วมเป็นสหรัฐเม็กซิโก




San Cristóbal de las Casas เคยเป็นเมืองหลวงของรัฐ Chiapas จนถึงปี ค.ศ. 1892 (ปัจจุบันเมืองหลวงของรัฐคือ Tuxtla Gutiérrez) บรรยากาศในเมืองโดยรวมแล้วให้ความรู้สึกเหมือนอเมริกากลางมากกว่าเม็กซิโก ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเพราะว่าภูมิภาคนี้อยู่ติดกับอเมิกากลาง ทำให้วัฒนธรรม อาหาร เสื้อผ้า ฯลฯ มีความคล้ายคลึงกับในอเมริกากลาง ชนพื้นเมืองที่นี่เป็นชาวมายา เช่นเดียวกับในกัวเตมาลา ฮอนดูรัส และเอลซัลวาดอร์ ส่วนอาคารบ้านเรือนโคโลเนียลก็เป็นดีไซน์คล้ายกับที่พบในอเมริกากลางเช่นกัน

สถาปัตยกรรมสเปนเองก็มีหลายแบบ ซึ่งเมื่อสเปนมาสร้างอาณานิคมในโลกใหม่ เมืองที่สร้างขึ้นในที่ต่าง ๆ ก็มีความหลากหลาย ขึ้นอยู่กับว่าใครสร้างเมืองนั้น ๆ เมืองอาณานิคมในเม็กซิโกตอนกลางก็สร้างโดยชาวสเปนกลุ่มหนึ่ง ในขณะที่เม็กซิโกตอนใต้และอเมริกากลางสร้างโดยชาวสเปนอีกกลุ่มหนึ่ง





ห่างจาก San Cristóbal de las Casas ออกไปประมาณ 400 กม. ในพื้นที่ป่าของรัฐ Chiapas เราจะพบกับโบราณสถานของชาวมายาชื่อว่า Palenque (ปา-เลง-เก) ที่เคยเฟื่องฟูในช่วงปี ค.ศ. 500-700 และเป็นเป็นหนึ่งในสามเมืองที่ทรงอิทธิพลของชาวมายาในช่วงเวลานั้น (อีกสองเมืองคือ Calakmul ในรัฐที่อยู่ติดกับ Chiapas และ Tikal ในประเทศกัวเตมาลา)



ชาวสเปนที่มาสร้างอาณานิคมในเม็กซิโกทราบว่ามีโบราณสถานที่ถูกทิ้งร้างแห่งนี้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 แต่ก็ไม่ได้มีการขุดค้นอย่างจริงจังมาจนกระทั่งในศตรววรษที่ 20 โดยนักโบราณคดีลูกครึ่งคิวบา-ฝรั่งเศส Alberto Ruz L'Huillier (ต่อมาได้รับสัญชาติเม็กซิกัน) เริ่มขุดค้นและทำวิจัยอย่างจริงจังในช่วงทศวรรษ 1950 ซึ่งเขาได้ค้นพบว่าภายใต้ปิรามิดที่ Palenque เป็นที่ฝังศพของอดีตกษัตริย์ Pakal (ปา-กาล) การค้นพบครั้งนี้พลิกความเชื่อของนักโบราณคดีก่อนหน้าเขาทั้งหมดว่า ปิรามิดในเม็กซิโกไม่ได้เป็นเพียงฐานสำหรับสร้างวิหารไว้ข้างบน แต่แท้จริงแล้วคือหลุมฝังศพของชนชั้นสูงนั่นเอง


รูปภาพ : โบสถ์ Temple of the Inscriptions



เมื่อนาย Alberto Ruz L'Huillier เสียชีวิตลงในปี 1979 โลงศพของเขาถูกฝังไว้ที่ Palenque (ใกล้ ๆ กับ Temple of the Inscriptions) ตามเจตนารมณ์ของเจ้าตัว




รูปภาพ : พระราชวังของกษัตริย์ Pakal



รูปภาพ : กลุ่มอาคารโบสถ์ของเมือง Palenque



ติดตามตอนต่อไป ...


ในบันทึกฉบับนี้เราได้ย้อนดูเม็กซิโกในยุคก่อนสเปน (prehispanic) และการเข้ามาสร้างอาณานิคมสเปนใหม่ (Nueva España) กันไปแล้ว ฉากต่อไปในประวัติศาสตร์เม็กซิโกก็คือการต่อสู้เพื่อเอกราชในเวลาสามร้อยปีต่อมา ซึ่งสามารถติดตามต่อได้ในบทความเรื่อง "เมืองมรดกโลก บนเส้นทางสู่เอกราชเม็กซิโก"



แหล่งข้อมูล :

สถาบันศิลปะและประวัติศาสตร์แห่งเม็กซิโก (https://www.inah.gob.mx/)

ละตินอเมริกา แผ่นดินแห่งการปฏิวัติ โดย ปัญญา วิวัฒนานันท์ (พิมพ์ครั้งที่ 1 ปี 2559)

265 views0 comments

Comments


bottom of page