ในทุกวัฒนธรรรม มักมีวันรำลึกถึงบรรพบุรุษ เช่น วันเช็งเม้งของชาวจีน วันฮาโลวีนและวัน All Saints' ของชาวคริสต์ สำหรับวันรำลึกถึงบรรพบุรุษของชาวเม็กซิกัน เรียกว่า Día de Muertos หรือ “วันผู้วายชนม์” ซึ่งเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองให้แก่ผู้ล่วงลับที่เต็มไปด้วยศิลปะ สีสัน และเสียงเพลงอันเป็นเอกลักษณ์ของประเทศลาตินอเมริกาแห่งนี้ ในแบบฉบับที่ไม่เหมือนใคร
เทศกาล Día de Muertos เป็นผลลัพธ์ของการผสมผสานกันระหว่างประเพณีของชาวคริสต์กับความเชื่อของชาวพื้นเมือง โดยจัดขึ้นในคืนวันที่ 1 พฤศจิกายน จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 2 พฤศจิกายน ของทุกปี ตามปฏิทินของชาวคริสต์ สืบเนื่องจากการที่ชาวสเปนซึ่งนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาโธลิกเข้ามาปกครองเม็กซิโกกว่า 300 ปี แต่รูปแบบการเฉลิมฉลองยังคงเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมพื้นเมืองที่อาจทำให้หลายคนประหลาดใจ
มองความตายให้เป็นเรื่องขำขัน และเปลี่ยนสุสานเป็นงานรื่นเริง
ปกติเรามักมองความตายเป็นเรื่องน่าเศร้า แต่ชาวเม็กซิกันเลือกที่จะทำให้สิ่งที่ไม่มีใครหลีกหนีพ้นเป็นเรื่องสนุกแทน นักเขียนรางวัลโนเบลชาวเม็กซิกัน Octavio Paz ได้เขียนอธิบายอัตลักษณ์ความรักสนุกที่แฝงไว้ด้วยแนวคิดเชิงปรัชญาของชาวเม็กซิกันในหนังสือเรื่อง “The Labyrinth of Solitude” ว่า คนเม็กซิกันรักในการเฉลิมฉลอง และเลือกที่จะรำลึกถึงผู้วายชนม์ในบรรยากาศครื้นเครง เพราะความตายคือส่วนหนึ่งของชีวิต หากเรามองว่าเรามีชีวิตที่ดี เราก็ควรตายอย่างมีความสุขด้วย แทนที่จะกลัวความตาย ทำไมเราไม่หัวเราะไปกับมัน
เมื่อเข้าสู่ช่วงเทศกาลวันผู้วายชนม์ ชาวเม็กซิกันจะตั้งโต๊ะหมู่ หรือ ofrenda โดยมีรูปภาพของสมาชิกครอบครัวผู้ล่วงลับ พร้อมกับอาหารและเครื่องดื่ม และตกแต่งอย่างมีสีสัน โต๊ะ ofrenda นี้ไม่ใช่ "โต๊ะหมู่บูชา" เนื่องจากวัตถุประสงค์ไม่ใช่เพื่อการบูชาหรือการไหว้ แต่เป็นการต้อนรับดวงวิญญาณกลับบ้าน
โต๊ะ ofrenda ประดับด้วยดอกดาวเรือง (cempasúchil) ซึ่งชาวเม็กซิกันเชื่อว่าเป็นดอกไม้ที่ช่วยนำดวงวิญญาณกลับมาหาครอบครัว ดอกดาวเรืองถูกจัดเรียงเป็นประตูทางโค้งที่เชื่อมต่อระหว่างพิภพของคนเป็นกับคนตาย โดยหน้าประตูจะมีแสงเทียนสว่างไสวเพื่อช่วยนำทาง
หัวกะโหลก Calavera ดาวเด่นของเทศกาล
เหตุที่เทศกาลวันผู้วายชนม์โด่งดังไปไกลถึงต่างแดนนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีพรีเซนเตอร์ที่สะดุดตา ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน ใครที่ได้พบเห็นเข้าแล้วก็คงยากที่จะลืม
สัญลักษณ์สำคัญในเทศกาลวันผู้วายชนม์ คือ calavera หรือหัวกะโหลก ซึ่งในวัฒนธรรมเม็กซิกันนั้น หัวกะโหลกไม่ใช่ผีที่น่ากลัวแต่เป็นตัวการ์ตูนอารมณ์ดีที่ช่วยสร้างบรรยากาศครื้นเครง นอกจากนี้ หัวกะโหลกยังเป็นของประดับบ้าน เป็นลายบนเสื้อผ้าและบนของใช้ทั่วไปที่ชาวเม็กซิกันสามารถมอบให้กันเป็นของขวัญได้โดยไม่ได้มีนัยเป็นการแช่งกันแต่อย่างใด สามารถซื้อฝากญาติผู้ใหญ่ได้
เมื่อต้นศตวรรษที่ 20 นักวาดการ์ตูนชาวเม็กซิกันนามว่า José Guadalupe Posada ได้วาดการ์ตูนเป็นรูปหญิงสาวในชุดราตรีกับหมวกใบใหญ่ตามแฟชั่นฝรั่งเศสในสมัยนั้น แต่หน้าเป็นหัวกะโหลก เพื่อล้อเลียนผู้หญิงเม็กซิกันที่พยายามทำตัวเหมือนชนชั้นสูงในยุโรป หลงใหลในวัตถุนิยม และเป็นข้อเตือนใจว่า ภายใต้อาภรณ์ของปรุงแต่งทั้งหลาย ทุกคนก็จะต้องพบกับความตายเหมือนกัน หญิงสาวคนนี้มีชื่อว่า "La Catrina" ซึ่งได้กลายเป็นดาวเด่นของเทศกาลผู้วายชนม์ในแบบฉบับเม็กซิกัน
หัวกะโหลกที่ใช้ประดับโต๊ะหมู่มีทั้งแบบที่ทำจากดินเผา และแบบที่ทำจากน้ำตาลหรือช็อกโกแลต ซึ่งเป็นของหวานที่เด็ก ๆ ใจจดใจจ่อรอจะกินกันหลังเสร็จเทศกาล ดังคำกล่าวที่ว่า "ในเม็กซิโก แม้แต่ความตายก็หอมหวานได้"
การจัดเลี้ยงและตกแต่งสถานที่
ทุกงานเลี้ยงย่อมต้องมีอาหารและมีการตกแต่งสถานที่เพื่อให้แขกผู้มีเกียรติ (ในที่นี้ คือ ผู้วายชนม์ที่กลับมาเยี่ยมบ้าน) อิ่มหนำ สำราญ และรู้สึกได้ถึงความปรารถนาดีของเจ้าภาพ
"ขนมปังผู้วายชนม์" (pan de muerto) คือ อาหารยอดนิยมของคนเป็นในช่วงเทศกาลวันผู้วายชนม์ และเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้บนโต๊ะ ofrenda ขนมปังนี้มีเนื้อคล้าย ๆ กับขนมฝรั่งกุฎีจีน คือ กรอบ ร่วน และโรยหน้าด้วยน้ำตาล ตัวขนมปังปั้นเป็นรูปทรงกลมและมีลายกระดูกวางอยู่ด้านบน (กระดูกสองท่อนไขว้กันเป็นรูปกากบาท) ทุกปีเมื่อเข้าสู่ช่วงเทศกาลวันผู้วายชนม์ เราจะสามารถหาซื้อขนมปังนี้ได้ตามร้านเบเกอร์รี่และซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป และทานคู่กับนมช็อคโกแลตหรือน้ำนมข้าวโพดร้อน ๆ
สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในทุกงานเทศกาลของเม็กซิโก ไม่ว่าจะเป็นวันปีใหม่ วันสำคัญทางศาสนา วันชาติ วันเกิด หรือวันผู้วายชนม์ คือ papel picado หรือกระดาษแกะลาย ซึ่งมีลวดลายที่ถูกออกแบบมาเฉพาะสำหรับแต่ละเทศกาล สำหรับวันผู้วายชนม์นั้น จะใช้กระดาษแกะลายที่เป็นรูปหัวกะโหลก calavera
รูปภาพ: โต๊ะ ofrenda ที่ประดับด้วยดอกดาวเรือง เทียน ตัวกระดูก หัวกะโหลก ขนมปังผู้วายชนม์ และกระดาษแกะลาย
จากประเพณีพันปี สู่ Pop Art หัวกะโหลก
ตลอดสัปดาห์ของการจัดเทศกาลวันผู้วายชนม์ ยังมีกิจกรรมครื้นเครงอื่น ๆ ทั้งการปิดถนนขี่จักรยานยามค่ำคืน การจัดนิทรรศการศิลปะหัวกะโหลกกลางแจ้ง และการแต่งหน้าผีที่ไม่ได้ให้ดูน่ากลัวเหมือนฮาโลวีน แต่เป็นผีหน้าตาสละสลวยและประดับด้วยดอกไม้ ออกมาเดินตามท้องถนน (มีการประกวดแต่งหน้าด้วย) ทำให้วันผู้วายชนม์เป็นหนึ่งในเทศกาลที่ใหญ่ที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดของเม็กซิโก
หากใครเคยดูภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ภาคล่าสุด “Spectre” (ออกฉายเมื่อปี 2558) ก็คงจะจำกันได้ถึงฉากเปิดของภาพยนตร์ที่เจมส์ อนด์เดินอยู่ท่ามกลางพาเหรดโครงกระดูกในเม็กซิโกซิตี้ ใครจะไปนึกว่าวันหนึ่งสายลับ 007 ในตำนานจะมาร่วมเทศกาล Día de Muertos กับเขาด้วย และที่สำคัญ ภาพยนตร์เจมส์บอนด์ภาคนี้ทำให้ชาวเม็กซิโกซิตี้เรียกร้องว่าอยากให้มีพาเหรดแบบนี้บ้างในชีวิตจริง จนในปีต่อมา (2559) ได้มีการนำชุดพาเหรดแบบในหนังออกมาเดินโชว์ และจัดต่อเนื่องมาจนปีนี้ซึ่งเป็นปีที่ 5 แต่ในปีนี้จะต่างจากทุกปีที่ผ่านมาเพราะเป็นครั้งแรกที่จัดเป็น virtual parade สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
นอกจากเจมส์ บอนด์แล้ว ระยะหลังก็ยังมีภาพยนตร์แอนิเมชั่นที่เกี่ยวกับวันผู้วายชนม์ออกมาอีก 2 เรื่อง นั่นก็คือ The Book of Life (El Libro de la Vida) เมื่อปี 2557 และเรื่อง Coco เมื่อปี 2560 ซึ่งทั้งสองเป็นเรื่องราวของมนุษย์ที่หลุดไปอยู่ในโลกของผู้วายชนม์ และการผจญภัยโดยมีเหล่าบรรพบุรุษของพวกเขาคอยช่วยเหลือ
การฉลองเทศกาล “เช็งเม้ง” อย่างสนุกสนาน สะท้อนถึงเอกลักษณ์ของชาวลาตินอเมริกาและชาวเม็กซิกันสองอย่าง คือ ความสำคัญของสถาบันครอบครัว และความรักสนุก ทำให้เกิดประเพณีการรำลึกถึงบรรพบุรุษและผู้ล่วงลับอย่างมีสีสันจนโด่งดังไปทั่วโลก และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมโดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม ของสหประชาชาติ (UNESCO) เมื่อปี 2551
แหล่งข้อมูล
National Geographic: https://www.nationalgeographic.com/travel/destinations/north-america/mexico/top-ten-day-of-dead-mexico/
Comments