เมื่อพูดถึงนครนิวยอร์กเมื่อช่วงเกือบครึ่งปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าสะบักสะบอมพอสมควร เมื่อไวรัส Covid-19 บุกนิวยอร์กเมื่อช่วง มี.ค. 2563 เล่นเอาผู้บริหารและหน่วยงานสาธารณสุขแทบไปไม่เป็น มึนงงกันพักใหญ่ ตามหาแหล่งที่มาสายพันธุ์ว่ามาจากยุโรปหรือเอเชียกันแน่ ใครนำเข้ามา จากเดิมที่นิวยอร์กเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งไม่ว่าจะเป็นการเงินการธนาคาร ธุรกิจ แฟชั่น อาหาร บันเทิง ก็กลายมาเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาด (epicenter) ไปด้วย โดยมียอดผู้ติดเชื้อสูงที่สุดในสหรัฐฯ ด้วยความที่เป็นชุมชนเมือง พื้นที่หนาแน่นแออัดเป็นปัจจัยที่เอื้อในการกระจายจากประชาชนสู่ประชาชน ยังจำเคสแรกๆ ที่ทนายคนหนึ่งในเมืองโรเชสเตอร์ ทำงานในเขตมิดทาวน์แมนฮัตตัน เป็น super spreader ทำคนติดอีกนับหลายสิบคนได้เลย
Andrew Cuomo ผู้ว่าการรัฐ และ Bill de Blasio นายกเทศมนตรี สองผู้บริหารไฟแรงจากพรรคเดโมแครต เป็นชื่อที่ปรากฎในสื่อแทบทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ การทำงานของทั้งสองคนเป็นที่ประจักษ์ว่า หากในภาวะวิกฤต ผู้นำดีมีชัยไปกว่าครึ่ง แม้จะแอบมีกระแสว่าทั้งสองคนแย่งความเด่นกันบ้าง ตามประสายามศึกร่วมรบ ยามสงบขัดกันเองบ้าง แต่ Covid-19 ทำให้ทั้งสองคนต้องจับมือกันช่วยให้นิวยอร์กพ้นภัยเพราะความเสียหายสาหัส มีคนเปรียบว่าร้ายแรงกว่าเหตุการณ์ 9-11 หลายเท่า
ฤดูหนาวใกล้จะมาถึงแล้ว เชื่อว่า หลายพื้นที่คงเตรียมรับมือกับเชื้อไวรัส Covid-19 ที่น่าจะกลับมาระบาดอีกรอบ ขนาดไม่มี Covid แค่ไข้หวัดธรรมดา ระบบสาธารณสุขของสหรัฐฯ ก็รับมือแทบไม่ไหว ขณะที่เขียน อีกมหาอำนาจ ได้แก่ สหราชอาณาจักรได้ประกาศ lock down เรียบร้อยแล้ว รัฐนิวยอร์กเองจากการทดสอบการติดเชื้อของประชาชนเพิ่มจากวันละ 500-600 คน เป็นเฉียดพันคน การเปิดระบบเศรษฐกิจในเมืองที่มีความเป็นชุมชมเมืองสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญทีเดียว
บทเรียนที่ผ่านมาซึ่งเห็นชัดจากการบริหารจัดการเชื้อไวรัส Covid-19 ที่ถอดรหัสออกมาหลักๆ 6 ประเด็นได้แก่
1. การยอมรับความจริง - ความที่เชื้อไวรัสตัวนี้ใหม่มาก ถึงแม้จะเป็นไวรัส แต่ไม่ใช่ไข้หวัดปกติ การป้องกันไม่สามารถทำได้เพราะแม้หวัดปกติ ก็ทำให้คนในสหรัฐฯ เสียชีวิตหลักพันคนต่อปี วัคซีนยังอยู่ในช่วงการทดลองและยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะสามารถออกมาได้เมื่อไหร่ การยอมรับความมีตัวตนและความร้ายแรงของสถานการณ์ ทำให้ผู้บริหารทั้งสองวางแผนรับมือและจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เห็นได้ชัดจากการครองแชมป์รัฐที่มีการแพร่ะระบาดสูงสุดในสหรัฐฯ (อย่างไม่เต็มใจนัก) มาหลายเดือน ล่าสุด กลายมาเป็นรัฐที่มีการแพร่ระบาดอันดับที่ 4 รองจากแคลิฟอร์เนีย ฟลอริดา และเท็กซัส
2. การจัดการกับภาวะตื่นตระหนก - ตอนช่วงการแพร่ะบาดสูงสุด นิวยอร์กเจ็บหนักสุดไม่ว่าจะเตียงไม่ว่าง เครื่องช่วยหายใจขาดแคลน ห้องไอซียูเต็ม บุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ การอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล (personal protective equipment - PPE) และหน้ากากอนามัยก็เป็นของหายาก มีเงินก็ซื้อไม่ได้ การรักษาโรคอื่น หรือการแพทย์ทางเลือก (elective surgery) ต้องพับแผนกันเป็นแถว ภาวะแตกตื่นของผู้คนในการกักตุนสินค้า อาหาร กระดาษชำระ น้ำยาฆ่าเชื้อ เจลแอลกอฮอล์ แถวที่ยาวเหยียดตามห้างขายส่งทั้งหลายเป็นฝันร้ายที่แทบไม่มีใครคิดว่าจะประสบ ซึ่งเข้าใจได้ว่า คนทุกคนย่อมกลัวป่วยกลัวเจ็บกลัวตาย ภาพคนไข้ติดเชื้อนอนบนเตียงใกล้เสียชีวิตที่มีการเวียนในสื่อสังคมออนไลน์ ภาพข่าวที่วนฉายซ้ำไปมา ทำให้ประชาชนจิตตก การที่ผู้นำออกมาให้ข่าวต่อเนื่องและพยายามทำเท่าที่จะทำได้ไม่ว่าเร่งเจรจาจัดซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นจากต่างประเทศ เจรจากับรัฐบาลกลางเพื่อจัดสรรงบประมาณและเครื่องช่วยหายใจ การส่งเรือพยาบาลลอยน้ำ การสร้างโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ต่างๆ การขอยืมบุคลากรทางการแพทย์จากรัฐที่มีการแพร่ระบาดต่ำกว่า ย่อมสื่อความจริงใจ ทำให้ประชาชนอุ่นใจ และรู้สึกว่าผู้บริหารรับรู้ปัญหา พยายามเคียงข้างตลอดเวลาวิกฤต ถึงแม้ตอนนี้ การให้ข่าว แถลงข่าวต่างๆ ของผู้บริหารจะซาลง และความถี่น้อย แต่ก็มีการใช้ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ เช่น ทวิตเตอร์ ในการสื่อสารกับสาธารณชน
3. ภาวะผู้นำ ความเด็ดขาด กล้าตัดสินใจ ใครกล้าทำก่อน ได้เปรียบ (first mover advantage) - นิวยอร์กเป็นรัฐแรกๆ ที่ประกาศปิดระบบเศรษฐกิจหรือ lock down รวมทั้งไม่เปิดกลับมาง่ายๆ มีการวางแผนการเปิดระบบเศรษฐกิจเป็นขั้นตอนหรือเฟสต่างๆ ที่ระบุชัดเจนว่าธุรกิจใดเปิดได้ และขีดความสามารถเท่าใด ทั้งๆ ที่รู้ว่าการปิดระบบเศรษฐกิจคือการขาดรายได้ งบประมาณจะต้องขาดดุลติดลบมหาศาล แต่เมื่ออีกฝั่งคือชีวิตคน ประชาชนที่เป็นพลเรือน การแลกย่อมคุ้มค่า คนที่มีสามัญสำนึกคงไม่มีใครที่เห็นว่าชีวิตคนสำคัญน้อยกว่าเงิน มีการออกคำสั่งฝ่ายบริหาร (executive order) ที่ให้ประชาชนใส่หน้ากากอนามัย รวมทั้งบทลงโทษหากฝ่าฝืน ทั้งๆ ที่ขณะนั้น แม้กระทั่ง WHO บอกไม่จำเป็น ผู้นำสหรัฐฯ และฝ่ายบริหารประเทศยังไม่ใส่หน้ากากอนามัยด้วยซ้ำ อีกอย่างที่คัวโม และเดบลาซิโอ กล้า คือ การเผชิญหน้ากับ ปธน. ทรัมป์ที่บังคับให้เปิดระบบเศรษฐกิจ หรือเปิดโรงเรียน โดยเอาเงินงบประมาณมาเป็นเครื่องต่อรอง ทั้งสองประกาศชัดเจนว่า ‘ไม่พร้อม ไม่ปลอดภัย ไม่เปิด’ หากเปิด ถ้าเจอความไม่ปลอดภัย ก็ไม่เสี่ยง พร้อมปิดทันที รวมถึงการเผชิญหน้ากับผู้ว่าการรัฐอื่นในการออกประกาศแนะนำการเดินทางที่ไปตราหน้าว่ารัฐอื่นเป็นกลุ่มเสี่ยงตัวอันตราย หากเข้ามาในนิวยอร์ก ต้องกักตัว 14 วัน แต่ทุกอย่างที่ทำไปก็เพื่อความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก
4. วิทยาศาสตร์เป็นหลักฐานอ้างอิง - นิวยอร์กมีการเร่งตรวจทดสอบการติดเชื้อต่อวันสูงที่สุดในสหรัฐฯ ถึงแม้จะมีผู้คัดค้านว่ายิ่งตรวจ ยิ่งเจอ แต่ถ้าไม่ตรวจ คนก็หวาดระแวง และจะเดินหน้าต่อไม่ได้ ในข้อมูล worksheet ของ Department of Health and Mental Hygiene รัฐนิวยอร์ก ยอมรับว่าละเอียดมาก ลงจำแนกชัดถึงจำแนกเพศ อายุ ประชากร พื้นที่ต่างๆ โดยใช้รหัสไปรษณีย์อ้างอิง เพื่อช่วยในการจัดการปัญหาที่รากเหง้า ซึ่งส่วนใหญ่ พื้นที่ที่พบเป็นชุมชนเปราะบางในสังคม ผู้อพยพต่างๆ ที่มีรายได้น้อย อย่างไรก็ดี การเร่งตรวจสอบยังไม่พอ ยังมีการย้อนรอยผู้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ (contact tracing) ซึ่งช่วยในการจำกัดวงการแพร่ระบาดให้แคบลง นอกจากนี้ ยังมีการนำ benchmark ต่างๆ มาใช้ในการกำหนดมาตรฐานเฝ้าระวังความปลอดภัยต่างๆ และเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้บริหารต้องตัดสินใจออกนโยบายหรือมาตรการรับมือ หากตัวเลขสูงจนเกือบแตะค่าเพดานของ benchmark
5. การยอมรับความผิดพลาดและแก้ไข - ไม่มีใครทำอะไรได้ถูกต้องและถูกใจได้ทุกอย่าง ไม่มีนโยบายไหนให้ผลได้เต็มร้อย ถึงแม้ผู้บริหารนิวยอร์กจะพยายามแก้ไขสถานการณ์ แต่ก็มีคำวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องการจัดการกับสถานพยาบาลผู้สูงอายุระยะยาวที่มีคนชราเสียชีวิตจำนวนมาก สิ่งหนึ่งที่ยอมรับคือ คนชรามีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์เทียบกับคนวัยหนุ่มไม่ได้ แม้กระทั่งหนุ่มสาวหากติดเชื้อไวรัส ยังเสียชีวิตได้ง่ายๆ ล่าสุด มีการออกแนวปฏิบัติในการเยี่ยมคนชราผู้พำนักในสถานพยาบาล และมีมาตรการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด รวมทั้งต้องรายงานหากเกิดเหตุไม่ชอบมาพากลทั้งหลาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี
6. การให้เครดิตคนอื่น - ผู้นำที่ดีย่อมไม่เอาความดีความชอบเข้าตัวฉันใด ทั้งคัวโมและเด บลาซิโอก็เป็นฉันนั้น ทั้งคู่กล่าวชื่นชมผู้ให้บริการจำเป็นทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นบุคลากรการแพทย์ บุรุษไปรษณีย์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานร้านค้าทั้งหลาย รวมถึงทีมงานของตน ขณะที่ประชาชนทุกคนกักตัว ทำงานหรือใช้ชีวิตในที่พักอาศัย แต่พวกเขาต้องออกมาเผชิญหน้ากับความเป็นความตายเพื่อให้สังคมอยู่ต่อไปได้ มีการเปิดปิดไฟ การให้เครื่องบินบินวนรอบเมือง เพื่อให้เกียรติบุคลากรเหล่านี้
วิวัฒนาการทั้งหลายทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างต้องพัฒนาเพื่อความอยู่รอด คนเองก็เช่นกันต้องประบสู่ภาวะนิวนอร์มัลตามทฤษฎี ‘survival the fittest’ อีกหลายสิบปีต่อมา เชื้อไวรัส Covid-19 ก็จะปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์เหมือนกันกับ Spanish influenza ปี ค.ศ. 1918 ที่มีประชาชนล้มตายมหาศาล การมีผู้นำที่มีวุฒิภาวะและสติ จะช่วยนำพาให้ผ่านวิกฤตลุล่วงไปได้ และในสถานการณ์ยากลำบาก หากประชาชนเชื่อใจและเชื่อมั่นในผู้นำ สังคมนั้นก็จะอยู่รอดปลอดภัยดำรงอยู่ได้เช่นกัน